เวทีเสวนามุมมองกระบวนการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ของนักวิชาการและภาคประชาสังคม ในการเสวนารัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้ นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า การกำหนดให้ต้องทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่าผู้นำของประเทศขณะนี้มีอำนาจ แต่ยังขาดความชอบธรรม การทำประชามติในครั้งนี้ไม่ได้อยู่ในกรอบประชาธิปไตยอย่างเสรี แต่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านของสังคมไปเป็นอำนาจนิยมในลักษณะเผด็จการเชิงเครือข่าย ทั้งนี้ หากประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นไปโดยโปร่งใส และประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย หมายความว่าไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่อำนาจนิยม แต่หากผลออกมาว่าไม่รับจะทำให้สังคมชนชั้นนำ เริ่มตระหนักถึงความล้าหลังของประเทศและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่เสรีประชาธิปไตย
ด้านนายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวพ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่มีการพยายามลิดรอนเสรีภาพของประชาชนตลอดเวลา โดยเฉพาะการศึกษาและการรักษาพยาบาลของประชาชนที่ไม่ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเข้าถึงยาก โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาที่ระบุให้เรียนฟรี 12 ปี และ เรื่องการรักษาพยาบาลที่เป็นสิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับ ไม่ใช่เรื่องการของการสงเคราะห์คนยากไร้
ส่วนเรื่องที่มาของส.ส. และ ส.ว. ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แบบสรรหา และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ที่เป็นการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม เนื่องจากเข้าใจยาก นอกจากนี้ ให้ความสำคัญเรื่องการกระจายอำนาจลงสู่ชุมชน แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีการระบุอย่างแท้จริง นายบารมี กล่าวว่าหากเลือกได้ส่วนตัวก็คงจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
มุมมองของนายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ทั้ง 279 มาตรา ถือว่าสอบตก เพราะลดความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ ด้วยการให้อำนาจกับกองทัพและส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง และมองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พยายามเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และมีความพยายามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะสืบทอดอำนาจไปถึง 20 ปี จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้ความเข้มแข็งของรัฐบาลดลง เช่น การเปิดช่องนายกรัฐมนตรีคนนอก ที่มาส.ว.แต่งตั้ง รวมถึงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่ให้อำนาจลงโทษผู้ไม่ทำตามแผนยุทธศาสตร์ ขณะเดียวกัน ก็ยอมรับว่า เสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้งในสมัยรัฐบาลชุดน.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ก็มีพยายามบิดเบือนใช้อำนาจในทางมิชอบเช่นกัน เช่น ความพยายามผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม หรือสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ที่ปราบปรามยาเสพติดและแก้ปัญหาภาคใต้ ทั้งนี้ บรรยากาศภายในเวทีเสวนาผู้ร่วมฟังเสวนามีการนำป้ายมาแสดงความคิดเห็นด้วย