การประชุมชี้แจงพรรคการเมือง เรื่องร่างรัฐธรรมนูญ ประชามติ และประชาชน ที่สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า ได้เตรียมพร้อมแล้ว หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติ ได้เตรียมแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน ไว้แล้ว โดยต้องแก้ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนวันที่ 7 ส.ค. เพื่อจะได้เสนอรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีการปรับแก้แล้วพิจารณาได้ทันที คาดว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ผ่าน ขั้นตอนต่อไปก็ไม่ยุ่งยาก แต่กระบวนการที่คาดว่าจะใช้ระยะเวลานาน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มองว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีการปรับแก้ โดยไม่สอบถามความคิดเห็นของประชาชน อาจจะเกิดความขัดแย้งในวันข้างหน้า และมองว่าการทำประชามติในครั้งนี้ ต่างจากทำประชามติในปี 2550 และแตกต่างจากการทำประชามติของต่างประเทศที่เกิดขึ้นในปีนี้ ที่ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีเสรีภาพ นอกจากนี้ยังอยากให้มีการยกเลิกมาตรา 57 ที่ระบุห้ามพรรคการเมืองเคลื่อนไหว ส่วนประเด็นที่อยากสอบถาม คือ มาตรา 61 ตามพ.ร.บ. การออกเสียงประชามติ ที่ยังเป็นข้อสงสัยของสังคม ในส่วนของการใส่เสื้อ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และการตีความการใช้ถ้อยคำหยาบคาย
ขณะที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เห็นด้วยกับข้อเสนอและคำถามของนายอภิสิทธิ์ และมองว่าการจัดเวทีนี้ สายไปแล้ว เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญ มีการดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำไมตอนที่มีปัญหา ทำไมถึงไม่จัดเวที และแก้ร่างรัฐธรรมนูญ ที่เห็นว่าน่าจะเกิดปัญหาความขัดแย้งในอนาคต และมองว่าการเขียนมาตรา 61 ตามพ.ร.บ. ออกเสียงประชามติ ควรจะชัดเจนกว่านี้
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า มาตรา 61 ตามพ.ร.บ. ประชามติ ไม่แตกต่างจากกฎหมายประชามติ ปีก่อนๆ เพียงแต่เพิ่มในส่วนขยายความ ที่กล่าวถึง 6 ข้อ ทำได้ 8 ข้อ ทำไม่ได้ ซึ่งการตีความการใช้ถ้อยคำหยาบคาย จะใช้ประชาชนคนชั้นกลาง เป็นผู้ตีความว่าถ้อยคำไหนหยาบคายหรือไม่หยาบคาย ขณะที่คำว่า “กู” หรือ “มึง” ไม่ถือว่าเป็นคำหยาบคาย ส่วนการปลุกระดม ในความหมายที่นี้คือ การโน้มน้าว จูงใจ ให้มารวมกัน สร้างพฤติกรรมก่อความรุนแรงในสังคม ส่วนประเด็นการขายเสื้อ ใส่เสื้อ ในวันนี้ยังไม่ชี้ชัดว่าผิดหรือไม่ผิด ต้องดูพฤติกรรมต่อไป แต่หากมีการขายแบบปลุกระดม ผู้พบเห็นสามารถไปแจ้งความได้ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับแจ้งความ และหากรับแจ้งความ ขั้นตอนต่อไปคือส่งให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องต่อศาล ซึ่งท้ายสุดของกระบวนการคือ ศาลยุติธรรม จะเป็นผู้ชี้ขาดเองว่าพฤติกรรมใดที่จะผิดหรือไม่ผิด
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการจัดเวทีนี้ เพราะฝ่ายรัฐกลัวแพ้ประชามติ จึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองชนะ แม้กระทั่งกกต. ที่เขียนข้อกติกาที่เป็นนามธรรม และคนที่วินิจฉัยนามธรรม ก็คือนายสมชัย ที่วินิจฉัยกติกาได้มีปัญหามาก โดยเฉพาะถ้อยคำที่ระบุถึงการตีความเรื่องถ้อยคำหยาบคายจะต้องเป็นชนชั้นกลาง เอาอะไรมาวัด โดยส่วนตัวแล้วมองว่าหากย้อนไปปี 2550 ที่มีการทำประชามติ ที่มีการประกาศกฎอัยการศึกถึง 48 จังหวัด แต่ไม่มีการห้ามประชาชนพูดว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเลย แต่ครั้งนี้ฝ่ายรัฐใช้กำลังพลประมาณ 1 ล้านคน ออกมารณรงค์ แบบนี้จะบอกว่าไม่เอนเอียงได้อย่างไร ดังนั้นนปช. จะมีการตั้งศูนย์จับโกงประชามติ หากฝ่ายรัฐมีการพูดให้ “รับ” จะมีการถ่ายภาพ ถ่ายคลิปวีดีโอ แจ้งความทันที และอยากเสนอให้กกต. ลดความกดดัน สร้างบรรยากาศที่ดีของการทำประชามติมากกว่านี้ โดยนายจตุพร ยอมรับว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการล้มร่างรัฐธรรมนูญก่อนการทำประชามติ