การทดลองแก้ปัญหาการจราจรในถนนสาทร มูลนิธิโตโยต้า โมบิลลิตี้ จัดการแถลงข่าวโครงการ สาทร โมเดล ที่อาคารคิวเฮ้าส์ลุมพินี ถนนสาทรใต้ โดยรศ.ดร. สุพจน์ เตชวรสินสกุล ผู้แทนคณะวิศวะกรรมศาสตร์อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า สาทรโมเดล เป็นโครงการเพื่อมุ่งเน้นหาทางแก้ไขปัญหาจราจร โดยใช้พื้นที่และถนนสาทรเป็นต้นแบบ โครงการนี้เริ่มต้นมาจากโครงการภายใต้ WBCSD Mobility หรือ World Business Council for Sustainable Development ซึ่ง กรุงเทพมหานครเป็นหนึ่งในหกเมืองโลก ที่มีการค้นหาแนวทางการสร้างระบบการจราจรและขนส่งอย่างยั่งยืน โดยมีบริษัท โตโยต้าและบริษัทชั้นนำอีก 6 บริษัท เป็นผู้ดำเนินการ และมีเป้าหมายหลักเพื่อแสวงหาแนวทางการบริหารจัดการ การลดปริมาณการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลและชักจูงประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
ปัจจุบันโครงการสาทรโมเดล ก็ได้ดำเนินการมา 2 ปีแล้ว และทำการทดลองเชิงสังคมครั้งที่ 3 และมีการนำเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมจราจรและขนส่ง การพัฒนาแบบจำลองการจราจรบนคอมพิวเตอร์ (Traffic simulation model) มาประยุกต์ใช้ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก คือ มาตรการควบคุมปริมาณการเดินทางด้วยรถยนต์ โดยการพัฒนาระบบจอดแล้วจร พัฒนาระบบโรงเรียน แนะนำมาตรการเหลื่อมเวลาการเข้าทำงาน ซึ่งขณะนี้มีบริษัทเอกชนทั้ง 11 บริษัท โดยมีพนักงานรวม 4,300 คน เริ่มทดลองใช้ และพัฒนาระบบแอพลิเคชั่น บนสมาร์ทโฟน เพื่อใช้วางแผนการทำงาน และมาตรการการบริหารจัดการจราจร การแก้ไขปัญหาจราจรคอขวด และการบริหารสัญญาณไฟ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวม 19 มาตรการย่อย
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานร่วมโครงการคมนาคมอย่างยั่งยืน 2.0 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีแอพลิเคชั่น Linkflow ที่อัพเดทเป็นเวอร์ชั่น 1.1.3 ซึ่งทุกคนสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี สำหรับคนกรุงเทพมหานคร เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนการเดินทางในหลายรูปแบบ ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเปรียบเทียบผล ทั้งแบบขับรถอย่างเดียว หรือใช้มาตรการจอดแล้วจร เดินทางต่อด้วยระบบขนส่งส่ธารณะ BTS หรือ MRT ไปยังจุดหมาย ช่วยคาดการณ์เวลาที่ใช้เดินทางได้ล่วงหน้า และเลือกวิธีที่ประหยัดค่าใช้จ่ายมากที่สุด รวมถึงทราบปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ และพลังงานที่ใช้ในการเดินทางในแต่ละทางเลือก เพื่อให้ทุกคนมีทางเลือกในการตัดสินใจใช้เส้นทาง และวิธีการเดินทางได้อย่างเหมาะสม
ด้านนายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมเร่งพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ครอบคลุมเครือข่ายการเชื่อมต่อการเดินทางที่สะดวกขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ และความปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ได้ส่งเสริมการพัฒนาระบบจอดแล้วจรควบคู่กันไป เพื่อให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทาง มาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น รวมถึงการปรับเปลี่ยนป้ายหยุดรถประจำทาง และเส้นทางเดินรถ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งจะสามารถแก้ปัญหาจราจรติดขัดได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้โครงการสาทรโมเดลก็เป็นตัวอย่างที่ดีแล้วก็เป็นอีกจุดเริ่มต้นที่เหมาะสมซึ่งสมควรจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้จัดการจราจรบริเวณอื่นๆ เช่นเดียวกัน
ภายในงานยังได้มีการมอบโล่ห์แก่ 11 บริษัท ใช้การเหลื่อมเวลาเข้าทำงานด้วย ทั้งนี้โครงการสาทร โมเดล เป็นโครงการที่ริ่เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ภายใต้ความร่วมมือสอง 4 องค์กร คือ สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน กระทรวงคมนาคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร บวกกับความร่วมมือในการพัฒนาและดำเนินโครงการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมทั้งภาคเอกชน 70 บริษัท และภาครัฐ ทุกภาคส่วน เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาจราจรแบบบูรณาการ