หลังจากที่กองทัพบกได้มีการสั่งปิดศูนย์ประวัติศาสตร์ หรือ “ปราสาทเขาพระวิหาร จำลอง” บนผามออีแดง อ.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ โดยมีรายงานข่าวแจ้งว่า สาเหตุของคำสั่งให้ปิดและรอการทำลายทุบทิ้ง เพื่อป้องกันปัญหาผลกระทบความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ที่ขณะนี้กำลังเป็นไปด้วยดี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ต้องมาตรวจสอบถึงสาเหตุของการสั่งปิดอีกครั้ง เบื้องต้นทราบมาว่ามีกลุ่มคัดค้าน ไม่อยากให้สร้าง แต่ไม่ขอระบุว่าเป็นทหารหรือพลเรือน ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทางกัมพูชาไม่ได้มีการส่งหนังสือมายังไทย แต่ต้องไปตรวจสอบให้ชัดเจนว่าพื้นที่ก่อสร้างบนผามออีแดงเป็นพื้นที่ทับซ้อนหรือไม่ ส่วนสาเหตุที่มีการก่อสร้างปราสาทดังกล่าวเพื่อต้องการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวของไทย และในปัจจุบันนี้ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นการจำลองอยู่ทั่วประเทศ ส่วนประเด็นการย้ายพ.อ. ธนศักดิ์ มิตรภานนท์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 6 (ผบ.ร.6) มาเป็น นายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา เมื่อวันที่ 4 พ.ค. นั้น ต้องรอสอบถามพล.อ. ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกอีกครั้ง
ส่วนกรณีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านการเมือง เสนอให้ออกกฎหมายกำหนดโทษในคดีทางการเมือง เพื่อสร้างความปรองดอง พล.อ. ประวิตร เปิดเผยว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วย ที่มีการเสนอเรื่องนี้ออกมา เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น โดยขอให้ สปท. พิจารณาความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ อย่างรอบด้าน พร้อมย้ำว่า การไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัว ไม่ได้มาจากรัฐบาล หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เนื่องจาก สปท. ต้องมีเสรีภาพในการเสนอเรื่องเพื่อการปฏิรูปประเทศ นอกจากนี้ยังอยากให้มองตามโรดแมปที่รัฐบาลได้สร้างไว้ นำไปสู่การเลือกตั้งในอนาคต
สำหรับการจับกุมน.ส.พัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาของนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ผู้ต้องหาตามหมายจับข้อหาร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ไม่ได้จับกุมเพราะมีความสัมพันธ์ในครอบครัวกับจ่านิว แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงมีการพบว่ากระทำความผิดจริง ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่ได้มีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 ในการกำจัดฝ่ายเห็นต่าง ทุกอย่างต้องดูตามพยานหลักฐาน และต้องยอมรับคำสั่งของศาลและหลักฐานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยขณะนี้ทางรัฐบาลไม่ได้มีการหารือกับผู้บริหารแอพลิเคชั่นเฟซบุ๊กหรือไลน์ ในเรื่องการขอข้อมูลส่วนตัวของบทสนทนา เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องคุย และการหาหลักฐานนั้นต้องหาเป็นรายบุคคล ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี จะเป็นผู้ดำเนินการเป็นรายๆ ไป