การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดเส้นทางท่องเที่ยวบุญเดือนหกจังหวัดชัยภูมิ ตามกิจกรรม เขาเล่าว่า... แห่นาคโหด ระหว่างวันที่ 7-9 พ.ค. การเดินทางมาวันแรกก่อนที่จะถึงพิธีบวชและแห่นาคในวันพรุ่งนี้ ที่มาของประเพณีแห่นาคโหด ที่จ.ชัยภูมิ มีความน่าสนใจมาก แต่หลายคนอาจจะไม่รู้ที่มาที่ไป วันนี้ปราชญ์ชาวบ้านและชาวบ้านในชุมนุมได้เล่าถึงที่มาของการแห่นาคโหด ที่อบต.บ้านหนองตูม โดยนายสนิท ศรีบุดดา ปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนบ้านโนนเสลา ตำบลหนองตูม อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เล่าให้ฟังว่า งานแห่นาคโหด เป็นประเพณีที่มีมานานแล้ว เริ่มต้นมาจากสมัยปู่ย่าตายาย เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว โดยใครที่มีลูกชาย เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะนำมาบวชกันในเดือนหก (นับตามปฏิทินไทย) ซึ่งผู้ที่มาบวชจะต้องนั่งบนแคร่ไม้ไผ่ มีคนหาม โดยจะเขย่าแคร่ไม้ไผ่อย่างรุนแรงเพื่อทดสอบความอดทนของนาค หากนาคตกลงมาที่พื้น จะไม่ได้บวช แต่ในปัจจุบันกติกานี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงไป หากนาคตกลงมาจากแคร่แล้วได้รับบาดเจ็บไม่มาก ก็สามารถบวชได้ โดยการแห่นาคโหดนี้จะเป็นการวัดใจนาคที่จะเข้าบวช ว่าจะมีความอดทนพอที่จะบวชทดแทนคุณบิดามารดาหรือไม่ เพราะในอดีต เมื่อมารดาคลอดบุตรแล้วจะต้องมีการอยู่ไฟบนแคร่ มีความเจ็บปวดเป็นอย่างมาก
งานแห่นาคที่วัดตาแขก (วัดใน) จะมีความแตกต่างจากที่อื่น เพราะจะมีการโยนนาคอย่างรุนแรงมาก อย่างไรก็ตาม นายสนิท ยืนยันว่าตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นนาคตกลงมาจากแคร่จนได้รับบาดเจ็บสาหัสเลย มีแต่บาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ และมีเคล็ดขัดยอกบ้าง โดยงานแห่นาคโหดในปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมบวชจำนวน 13 คน ไม่ได้คัดเลือกอะไรมาก เพราะเอาตามความสมัครใจ
ส่วนฤกษ์การบวชจะจัดตามความสะดวก เพราะในปัจจุบันต่างคนต่างมีงาน จึงแล้วแต่ความสะดวกสำหรับเส้นทางการแห่นาคโหดในวันพรุ่งนี้ จะแห่รอบหมู่บ้าน เป็นระยะทาง 3 กิโลเมตร และแห่รอบโบสถ์อีก 3 รอบ คาดว่า จะใช้ระยะเวลากว่า 1 ชั่วโมง และจะใช้ชายหนุ่มที่มีความแข็งแรง เป็นผู้หามแคร่เขย่าไปตลอดทาง ทั้งนี้ทางชุมชนได้จัดงานประเพณีนี้ทุกปี เพื่อเป็นการอนุรักษ์และไม่ให้ประเพณีนี้หายสาบสูญไป
ผู้สื่อข่าว:สมจิตร์ พูลสุข