กรมวิชาการเกษตร จะตรวจสอบแหล่งผลิตที่พบสารตกค้างเกินมาตรฐานในผักผลไม้

05 พฤษภาคม 2559, 14:19น.


หลังจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทยแพน (Thai-PAN : Thailand Pesticide Alert Network) แถลงผลการตรวจวิเคราะห์ ผัก 10 ชนิด พบว่ามีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน เช่น พริกแดง 100 % กะเพรา 66.7 % ถั่วฝักยาว 66.7 % คะน้า 55.6 % เป็นต้น  ส่วนผลไม้ 6 ชนิด มีสารพิษตกค้าง เช่น ส้มสายน้ำผึ้ง ฝรั่ง 100 % แก้วมังกร 71.4 % มะละกอ 66.7 % มะม่วงน้ำดอกไม้ 44.4% และแตงโม 0 % ในภาพรวมมีผักและผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานสูงถึง 46.4 %



กรมวิชาการเกษตร ขอขอบคุณ Thai PAN ในการช่วยทวนสอบแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรอง GAP ถือเป็นการตรวจสอบโดยภาคประชาสังคมให้เกิดประโยชน์ต่อระบบการรับรองและสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภค กรมวิชาการเกษตร ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การตรวจสอบรับรอง GAP และอินทรีย์ เป็นการตรวจรับรองระบบการผลิต ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจประเมินแหล่งผลิตตามมาตรฐาน GAP, Organic โดยการตรวจพินิจและรวบรวมข้อมูลหลักฐานในวันตรวจประเมิน ก่อนเสนอให้การรับรอง แต่หากพบว่ามีข้อบกพร่อง เกษตรกรต้องดำเนินการแก้ไขภายในเวลาที่กำหนด หากไม่ดำเนินการแก้ไข จะไม่ได้รับการรับรอง



ภายหลังการตรวจรับรองจะมีการตรวจติดตามประจำปี โดยหากพบข้อบกพร่องจะแจ้งให้เกษตรกรแก้ไขหากไม่ดำเนินการแก้ไขจะพักใช้/ยกเลิก/เพิกถอน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตร มีการสุ่มตัวอย่างเพื่อตรวจติดตามทวนสอบแหล่งผลิตที่ได้รับรองทุกปี (Monitoring) โดยจำนวนตัวอย่างที่เก็บตรวจสอบเป็นไปตามมาตรฐานสากล และหากพบว่ามีสารตกค้างเกินมาตรฐาน จะแจ้งเตือนเกษตรกรแก้ไขปรับปรุงหากไม่ดำเนินการแก้ไข จะพักใช้/ยกเลิก/เพิกถอน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด



สำหรับข้อมูลที่ Thai PAN เปิดเผยให้ทราบ กรมวิชาการเกษตร จะได้ตามสอบแหล่งผลิตที่ได้ระบุว่าตรวจพบสารตกค้างเกินมาตรฐาน รวมทั้งตรวจสอบกรณีตรวจพบสารเคมีที่ได้ยกเลิกการขึ้นทะเบียน  กรณีสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ยกเลิกทะเบียน และสารในกลุ่มเฝ้าระวัง Carbofuran, Methomyl กรมวิชาการเกษตรได้มีการตรวจจับสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชทั้งที่นำเข้าโดยผิดกฎหมาย และที่ผลิตหรือจำหน่ายในประเทศโดยผิดกฎหมายมาโดยตลอด



เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 ได้มีการตรวจพบการนำเข้าสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช 6 รายการ ได้แก่ methomyl 40%SP (สารฆ่าแมลง วอ.3) จำนวน 12,000 กิโลกรัม  trichlorfon 80%SP (สารฆ่าแมลง วอ.3) จำนวน 3,000 กิโลกรัม  paclobutrazol 95% min.TC (PGR วอ.3) จำนวน 3,000 กิโลกรัม และ Methyl eugenol (สารล่อแมลง) จำนวน 200 กิโลกรัม  ได้มีการอายัดและส่งฟ้องดำเนินคดี



เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2558 ได้มีการตรวจพบการนำเข้าสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช 6 รายการ รวม 20.2 ตัน ได้แก่  carbofuran 98% จำนวน 1,000 กิโลกรัม (สามารถผลิตขายสูตร 3% ได้ประมาณ 30,000 กิโลกรัม) pymetrozine 97% จำนวน 1,000 กิโลกรัม imidacloprid 96% จำนวน 2,000 กิโลกรัม  thiacloprid 96% จำนวน 100 กิโลกรัม  cyproconazole 95% จำนวน 100 กิโลกรัม และ methomyl 40%SP จำนวน 16,000 กิโลกรัม ได้มีการอายัดและส่งฟ้องดำเนินคดี  ผู้สนใจสามารถตรวจสอบสถานการณ์รับรองแหล่งผลิตได้ที่เว็บไซต์ GAP Online http://gap.doa.go.th/ และสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับระบบการรับรองได้ที่ http://gap.doa.go.th/web_manual/doc/annouce.pdf



CR:แฟ้มภาพ 

ข่าวทั้งหมด

X