*กรมชลประทานพบปัญหาน้ำซึมลงดินกระทบส่งน้ำอุปโภคบริโภคให้ชาวบ้านจ.สุโขทัย*

03 พฤษภาคม 2559, 17:36น.


การลงพื้นที่ของกรมชลประทานบริเวณลุ่มแม่น้ำยม  ที่จุดสูบน้ำลำน้ำมอก ซึ่งได้รับการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่มอก เพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่ตำบลเมืองบางขลัง ในอำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย  นายสุวิทย์ ทองสงค์ นายกเทศมนตรีตำบลเมืองบางขลัง เล่าถึงปัญหาของประชาชนในพื้นที่ว่า ในพื้นที่เขตบางขลัง ประชาชนกว่า 4,800 คน  ภายใน 7 วัน จะไม่มีน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภค -บริโภค ซึ่งปัจจุบันทางเทศบาลตำบลได้นำรถส่งน้ำไปส่งให้ประชาชนในพื้นที่ ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่เองก็ได้มีการปรับตัวรวมกลุ่มกัน ไม่เกิดการทะเลาะแย่งน้ำ ส่วนการบรรเทาปัญหา ต้องการให้มีการขุดลอกคูคลอง เพื่อใช้เป็นพื้นที่รับน้ำในฤดูน้ำหลาก และช่วยเรื่องการเกษตรในฤดูแล้งอีกด้วย



ด้านนายสาธิต โกสิน หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 2 โครงการชลประทานสุโขทัย กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้มีรการส่งน้ำให้ชาวบางขลังโดยได้ทำการส่งน้ำมาจากอ่างเก็บน้ำแม่มอก ซึ่งเปิดส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน จำนวน  2,200,000 ลบ.ม. แต่เพราะไม่มีน้ำในคลอง เพราะซึมลงดินหมด ซึ่งปัญหานี้ เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคำนวณได้ ทำให้ขณะนี้ น้ำยังไหลมาไม่ถึงบริเวณพื้นที่ จึงต้องเปิดน้ำเพิ่มให้อีกจำนวน 600,000 ลบ.ม.   ซึ่งคาดว่าน้ำจะเดินทางมาถึงอย่างแน่นอน แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางเนื่องจากระยะทางตั้งแต่อ่างเก็บน้ำแม่มอกมาถึงบริเวณนี้ มีระยะทางจำนวน 62 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อน้ำเดินทางมาถึงตรงนี้ซึ่งเป็นจุดอยู่ที่ทำประปาของหมู่บ้าน ซึ่งน้ำที่ส่งมาทั้งหมดเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค





จากนั้นกรมชลประทานลงพื้นที่เยี่ยมชมการบริหารจัดการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายม-น่าน ที่มีการบริหารจัดการน้ำ ให้สอดคล้อง กับสภาพพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ตามหลักพื้นที่ลุ่มต่ำ นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้ อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน กล่าวว่า พื้นที่ ดังกล่าวเป็นเขตรอยต่อ ระหว่าง แม่น้ำยมและแม่น้ำน่าน พื้นที่เป็นโครงการนำร่อง จำนวน 100000 กว่าไร่   แบบใช้พื้นที่ในเรื่องพื้นที่ชลประทานน้ำนอง ในการจัดการน้ำหลาก เข้ามาร่วมด้วย  ซึ่งเมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะมีการนำน้ำจากลำน้ำยมมาเก็บกัก ในลำคลอง ข้างๆ คลองจะทำหน้าที่ 2 อย่างคือในหน้าน้ำจะทำหน้าที่กักเก็บน้ำ ระบายน้ำ





ส่วนในหน้าแล้งจะทำหน้าที่ส่งน้ำมาเพื่อการเกษตร ประกอบกับน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์  ซึ่งปัจจุบันมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำมาร่วมบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่จะเริ่มการเพาะปลูกที่เร็วกว่าคือเริ่มปลูกข้าวในช่วงเดือนเมษายน เพื่อที่จะเก็บเกี่ยว ก่อนสิ้นเดือนกรกฎาคม เนื่องจาก เมื่อถึงเดือนสิงหาคมน้ำจะเข้าท่วมในพื้นที่การเกษตร ซึ่งการจัดเก็บน้ำ ในพื้นที่ ยังสามารถช่วยเสริมในเรื่องของระบบน้ำใต้ดินได้ดีอีกด้วย

ข่าวทั้งหมด

X