การลงพื้นที่ของกรมชลประทาน ในการพัฒนาบริหารจัดการลุ่มน้ำยม พื้นที่จังหวัดสุโขทัย หลังตรวจสอบบริเวณประตูระบายน้ำแม่ยม หรือบ้านหาดสะพานจันทร์ ที่ก่อสร้างเพื่อยกระดับน้ำและผันน้ำ จากลำน้ำยมเข้าสู่คลองธรรมชาติทั้งสองฝั่ง ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำในช่วงน้ำหลากก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำยมตอนล่าง รวมไปถึง บรรเทาปัญหาภัยแล้ง จากการขาดแคลนน้ำในเขตสุโขทัย สำหรับการอุปโภค-บริโภคและการผลิตน้ำประปา
นายปิติ แก้วสลับสี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า สุโขทัย ประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งทั้ง 2 ด้านทุกปี เพราะสุโขทัยมีแค่แม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายหลัก หากฝนตกมากก็ไม่มีแหล่งกักเก็บสำรอง ขณะเดียวกันในช่วงฤดูแล้งไม่มีน้ำสำรองต้องการเสนอวิธีป้องกันและแก้ปัญหา คือการทำบายพาส ผันน้ำไปสองฝั่งแม่น้ำยม เพื่อไปสู่แหล่งเก็บน้ำสำรองก่อนที่น้ำจะไหลลงน้ำยม
สำหรับสถานการณ์ น้ำในวันนี้ บริเวณเส้นทางสองฝั่งของแม่น้ำยม กรมชลประทานได้มีการพัฒนาขุดลอกไว้ แต่ต้องมีการเสริมตลิ่งที่ยังไม่สูงเพียงพอในการดึงน้ำไว้ จึงทำให้สามารถรับน้ำได้เร็วขึ้นอย่างน้อย100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีทำให้ ลดระดับน้ำไม่ให้ไปล้นเอ่อ สองฝั่งได้ รวมไปถึงสามารถแก้ปัญหาภัยแล้งได้ เพราะดึงน้ำไปกักเก็บน้ำคลองต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาสุโขทัยก็ใช้วิธีนี้ เพื่อให้ทำการเกษตรได้ รวมถึงการบูรณาการร่วมกันในจังหวัดที่เหนือกว่า เช่น จ.น่าน แพร่ พะเยา ที่จะทำอย่างไรให้ป่าซึมซับและเก็บน้ำให้ดีที่สุด โดยอาจต้องร่วมกับหลายภาคส่วนในการทำฝายชะลอน้ำ ซึ่งต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อทำให้ภาพรวมในการแก้ปัญหาได้ดี เบื้องต้นคาดว่า ฝนจะตกในเดือนมิถุนายน เพราะขณะนี้มีปริมานน้ำ เหลือเพียงร้อยละ 10 ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภค บริโภค เพียงอย่างเดียว