ม.มหิดล ประกาศความสำเร็จ โครงการทำหมันยุงลาย สกัดเชื้อไข้เลือดออก-ชิกุนคุนยา

02 พฤษภาคม 2559, 18:26น.


การพัฒนาโครงการทำหมันยุงลาย  ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล แถลงความก้าวหน้าโครงการทำหมันยุงลายเพื่อลดไข้เลือดออกว่า หลังจากนักวิจัยมหิดลคิดค้นเทคโนโลยีทำหมันยุงลายเพื่อควบคุมปริมาณยุง และลดการเกิดโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิกุนคุนยา) โรคไข้ซิกา และโรคไข้เหลือง ได้สำเร็จ และได้รับความสนใจจากหน่วยงานต่างประเทศ



ล่าสุด มหิดลได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย โดยมี นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เป็นประธาน มีผู้แทนจากสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์ วท. กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้าร่วม   นอกจากนี้ ยังมีผู้บริหารจากทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ประเทศออสเตรีย และผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมยุงจากประเทศสวีเดน เข้าร่วมประชุมเพื่อให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการโครงการทำหมันยุงลายในไทยอย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบันมีโครงการนำร่องที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก ม.มหิดล ไอเออีเอ ประเทศออสเตรีย และศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (ไอดีอาร์ซี) ประเทศแคนาดา



ด้านนายยงยุทธ แถลงว่า รศ.ปัทมาภรณ์ กฤตยพงษ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อความเป็นเลิศ พาหะและโรคที่นำโดยพาหะ คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล เป็นผู้พัฒนายุงลายสายพันธุ์ที่ต้านเชื้อไวรัสไข้เลือดออกและเชื้อไวรัสไข้ชิกุนคุนยาได้สำเร็จ โดยใช้วิธีการทางเทคโนโลยีชีวภาพ ฉีดเชื้อแบคทีเรียร่วมอาศัยสกุลโวบาเกีย 2 สายพันธุ์ซึ่งสกัดได้จากยุงลายสวนเข้าไปในยุงลายบ้าน หากปล่อยยุงลายบ้านตัวผู้ที่พัฒนาแล้วออกสู่ธรรมชาติ ยุงลายบ้านตัวผู้เหล่านี้จะไปผสมพันธุ์กับยุงลายบ้านตัวเมียในธรรมชาติ ทำให้ยุงลายบ้านตัวเมียในธรรมชาติเป็นหมัน และลดจำนวนยุงลายบ้านที่เป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออกได้



ส่วนรศ.ปัทมาภรณ์ แถลงว่า การทำหมันยุงลายแนวใหม่นี้จะทำถึง 2 ขั้นตอน เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและมีความปลอดภัยมากที่สุด โดยนำยุงลายบ้านตัวผู้สายพันธุ์ที่พัฒนาแล้วมาทำการฉายรังสีปริมาณอ่อนก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ เพื่อทำให้ยุงตัวดังกล่าวเป็นหมัน และไม่สามารถแพร่พันธุ์ในธรรมชาติได้ ถึงแม้จะผสมพันธุ์กับยุงลายบ้านตัวเมียสายพันธุ์ที่พัฒนาแล้วเหมือนกันก็ตาม



นอกจากนี้ หากยุงลายบ้านตัวเมียสายพันธุ์ที่พัฒนาแล้วหลุดออกไปในธรรมชาติ ก็จะไม่สามารถนำเชื้อไข้เลือดออกและเชื้อไข้ชิกุนคุนยาสู่คนได้ การทำหมันยุงทั้ง 2 ขั้นตอนนี้ จะไม่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เนื่องจากยุงลายบ้านสายพันธุ์ที่พัฒนาแล้วซึ่งถูกปล่อยสู่ธรรมชาติจะตายภายใน 2-3 สัปดาห์ และไม่แพร่พันธุ์ต่อ ขณะนี้ ม.มหิดลอยู่ระหว่างการเพิ่มจำนวนยุงลายบ้านสายพันธุ์ที่พัฒนาใหม่ ซึ่งเฉพาะยุงลายบ้านตัวผู้ที่กินแต่น้ำหวานและไม่กินเลือดเท่านั้น ที่จะถูกคัดเลือกเพื่อนำไปฉายรังสีในปริมาณอ่อนก่อนปล่อย ทีมนักวิจัยคาดว่าจะสามารถปล่อยยุงลายบ้านตัวผู้ที่ถูกทำหมัน 2 ขั้นตอนแล้วในโครงการนำร่องเพื่อลดจำนวนยุงลายบ้านในธรรมชาติ ที่ ต.หัวสำโรง อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เป็นที่แรกของโลกภายในปลายเดือนพฤษภาคมนี้ และประเมินทุก 6 เดือน หากสำเร็จจะร่วมกับต่างประเทศตั้งโรงงานเพาะพันธุ์ยุงตัวผู้ทำหมันควบคุมโรคและส่งออกต่อไป

ข่าวทั้งหมด

X