การแสดงความคิดเห็นในพรบ. การออกเสียงประชามติ นายไพโรจน์ พลเพชร นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้กล่าวในงานราชดำเนินสนทนา หัวข้อ "ประชามติ" อะไรทำได้-ทำไม่ได้ ว่า หลักในการออกเสียงประชามติ คือ การให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น รณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อย่างมีเสรีภาพ และจะต้องให้เวลาในการที่ประชาชนจะได้ศึกษา ถกเถียง จนเกิดปัญญาและได้ข้อสรุปด้วยตัวเอง การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกประกาศ 6 ข้อทำได้ 8 ข้อทำไม่ได้ ในมาตรา 7 ที่ระบุว่าบุคคลย่อมมีสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริต และไม่ขัดต่อกฎหมาย ถือว่าเป็นการขวางสิทธิและเสรีภาพตั้งแต่แรก โดยประเด็นที่ไม่เห็นด้วยกับกกต. คือ การห้ามไม่ให้มีการจัดเสวนา หากไม่มีหน่วยงานราชการหรือสถานศึกษาเข้าร่วม เนื่องจากเห็นว่าการเสวนาจากฝ่ายที่เห็นต่าง อย่างสงบและปราศจากอาวุธ ควรจะป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ และการใช้งบประมาณหลายสิบล้านจากรัฐบาลในการให้หน่วยงานภาครัฐของกระทรวงมหาดไทยและทหาร ไปให้ความรู้กับประชาชน แม้จะยืนยันว่าเป็นการให้ความรู้โดยไม่มีอคติ หรือชี้นำ ซึ่งส่วนตัวแล้วไม่เชื่อว่าหน่วยงานภาครัฐกับทหารจะไม่ชี้นำประชาชน และคิดว่าหน่วยงานภาครัฐควรจะจัดสรรงบประมาณให้กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ได้มีการจัดเสวนาด้วยเช่นกัน เพื่อให้เป็นความเท่าเทียมกับทั้งสองฝ่าย รวมทั้งการรณรงค์รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ควรจะให้ทุกฝ่ายได้รณรงค์กันอย่างเท่าเทียม
หากเปรียบเทียบการทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งมาจากการรัฐประหารเช่นเดียวกันนั้น มีความแตกต่างกันมาก เพราะการทำประชามติในปี 2550 ได้ให้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ มีการรณรงค์ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง และไปให้ความสำคัญในเรื่องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ การห้ามรับสินบน มากกว่า
นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ยังกล่าวอีกด้วยว่า การออกประกาศห้ามชักจูง ชี้นำ รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่บรรยากาศของการทำประชามติ และมองว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีผลต่อการดำรงชีวิตของคนส่วนมาก การชุมนุม ควรจะสามารถทำได้ หากปราศจากอาวุธ ภาครัฐไม่ควรกังวลกับความมั่นคงจนลืมนึกถึงหลักสิทธิ เสรีภาพ และหากมีการชุมนุมที่รุนแรงเกิดขึ้น รัฐบาลก็สามารถดำเนินการได้ในข้อหาอื่นๆ ที่เกี่ยวกับกฎหมายอาญาได้ หรืออาจจะออกมาตรา 44 มาบังคับก็ยังได้ และไม่ควรให้ฝ่ายที่เห็นต่างอยู่ในสภาวะที่หวาดกลัว ไม่ปลอดภัย
ทางด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เปิดเผยว่า ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับกกต. ในเรื่องของการห้ามใช้ถ้อยคำรุนแรง หยาบคาย ก้าวร้าว เพราะนี่อาจจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ขึ้นมา แม้ว่าหลายฝ่ายอาจจะอึดอัดในเรื่องการแสดงความคิดเห็นก็ตาม แต่นี่คือการสร้างภาวะในการอยู่ร่วมกัน
ส่วนในเรื่องที่ไม่เห็นด้วย คือ การห้ามออกความคิดเห็นหรือแสดงออก ในเชิงรณรงค์ ที่ยังคลุมเคลืออยู่ จึงอยากเสนอให้กกต. กำหนดให้ชัดเจนมากกว่านี้ และไม่ควรสร้างบรรยากาศให้ประชาชนออกเสียงประชามติด้วยความหวาดกลัว
..
ผสข.สมจิตร์ พูลสุข