ภาระหนี้สินของผู้ใช้แรงงานเพิ่มขึ้นพุ่งสูงสุดรอบ 8 ปี

02 พฤษภาคม 2559, 10:04น.


คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูปได้รายงานสถานการณ์แรงงานว่า ปัจจุบันอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ แม้ตัวเลขผู้ขอรับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในระบบประกันสังคม เดือนก.พ.2559 มีจำนวน 123,087 คน คิดเป็นอัตราว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ก็ตาม แต่ภาพรวมอัตราการว่างงานต่ำกว่าร้อยละ 1 ของกำลังแรงงานทั้งหมดและมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานมากขึ้นในบางภาคการผลิตจากการอพยพย้ายกลับภูมิลำเนาของแรงงานต่างด้าว



ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวเสริมว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานเพิ่มสูงขึ้นในบางภาคการผลิตเนื่องจากแรงงานต่างด้าวทยอยกลับประเทศโดยเฉพาะแรงงานจากพม่าหลังจากพม่าเปิดกว้างทางการเมืองและเศรษฐกิจมากขึ้นทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับสูง หนี้สินของผู้ใช้แรงงานปรับตัวสูงสุดในรอบ 8 ปีเป็นผลมาจากรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่จำเป็นในชีวิต และการก่อหนี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากการก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่การใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินตัว



ดร.อนุสรณ์ เสนอว่า หนี้สินของผู้ใช้แรงงานที่มีอยู่ในระดับสูงมากตอนนี้ ว่ารัฐบาลควรใช้ธนาคารของรัฐโดยเฉพาะธนาคารออมสินจัดตั้ง โครงการสินเชื่อเพื่อผู้ใช้แรงงาน หรือ ใช้โครงการธนาคารประชาชนซึ่งมีอยู่แล้ว ลดการกู้หนี้นอกระบบ เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถกู้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและลงทุนเพื่อประกอบอาชีพเสริมได้ ในภาวะเศรษฐกิจขยายตัวไม่สูงนักและมีการพิจารณาลดการทำงานล่วงเวลาของสถานประกอบการต่างๆ ทำให้รายได้ผู้ใช้แรงงานจำนวนไม่น้อยไม่พอกับรายจ่าย  รัฐบาลควรจัดให้มีโครงการเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานสามารถประกอบอาชีพเสริมได้ 


สำหรับข้อเสนอแนะทางนโยบายเนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติ  คือ


1.ขอให้รัฐบาลปฏิรูประบบกฎหมายแรงงานโดยมีกฎหมายเกี่ยวข้องกับแรงงานโดยตรง 11 ฉบับเพื่อจัดทำเป็นประมวลกฎหมายแรงงานและพระราชบัญญัติการบริหารแรงงานทั้งระบบ


2.ขอให้มีการพิจารณาปรับค่าแรงขั้นต่ำผ่านระบบไตรภาคี โดยปรับเพิ่มขึ้นไปที่ 340-360 บาท


3. ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการสมาคม สิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วมกัน ซึ่งทั่วโลกถือเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน


4. ขอเสนอให้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนสถานะของ "สำนักงานประกันสังคม"จากหน่วยราชการ เป็น องค์กรมหาชนที่บริหารงานโดยมืออาชีพและผู้แทนของสมาชิกองทุนประกันสังคม


5.ขยายสิทธิผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการและรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนได้ รวมทั้งขยายสิทธิไปยังสมาชิกในครอบครัว (แต่ต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่ม)


6.ลดการบิดเบือนจากการเบิกจ่ายจากกองทุนประกันสังคมกรณีเจ็บป่วยจากการทำงาน


7.ด้านคณะกรรมการบริหารกองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน หรือกองทุนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการของผู้ใช้แรงงาน ควรให้ระบบคะแนนเสียงถ่วงน้ำหนักในการคัดเลือกตัวแทนนายจ้างและตัวแทนลูกจ้างที่เข้ามานั่งเป็นคณะกรรมการบริหารกองทุน เพื่อให้ได้ตัวแทนนายจ้างที่เป็นตัวแทนของนายจ้างส่วนใหญ่ และ ตัวแทนลูกจ้างที่เป็นตัวแทนของลูกจ้างส่วนใหญ่อย่างแท้จริง


8.ควรส่งเสริมระบบบริการที่เน้นป้องกันโรคและอันตรายจากการทำงาน


9.การนำเงินกองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนไปใช้ลงทุนในบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจใดๆ หรือ โครงการใดๆ ของรัฐบาล ต้องมีกระบวนการในการตัดสินใจที่โปร่งใสและกรรมการกองทุนประกันสังคมต้องตัดสินใจอย่างเป็นอิสระ


..
ข่าวทั้งหมด

X