การติดตามผลการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วยนายดนุชา สินธวานนท์ รองเลขาธิการ กปร. ผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เดินทางมายังอ่างเก็บน้ำยางชุม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
นายทวี นริศศิริกุล ผู้ว่าราชการประจวบคีรีขันธ์ ได้รายงานสถานการณ์น้ำของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ให้กับนายพลากร โดยกล่าวว่า สถานการณ์น้ำของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขณะนี้เกิดปัญหาภัยแล้ง แต่ไม่ได้แล้งเท่ากับจังหวัดอื่นๆ เนื่องจากมีอ่างเก็บน้ำเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้ได้ประกาศพื้นที่ฉุกเฉินที่จะต้องเร่งให้การช่วยเหลือในอำเภอเมืองและอำเภอหัวหิน จึงได้ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนที่ทำอาชีพเกษตรกรให้งดการใช้น้ำในภาคการเกษตรก่อน เพื่อที่จะได้กักเก็บน้ำไว้สำหรับอุปโภคบริโภค เพราะจังหวัดประจวบเองก็เป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีชุมชนเป็นจำนวนมาก และจะมีการเสนอเรื่องขอน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานมาช่วยเหลือพื้นที่ที่ขาดน้ำอีก จากการประเมิน คาดว่าจะมีน้ำไว้ใช้ได้อีก 4-5 เดือน ทันต่อฤดูฝน
จากนั้น องคมนตรีได้พบปะกลุ่มผู้ใช้น้ำสหกรณ์การเกษตรชลประทานยางชุม จำกัด และราษฎรที่ได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำยางชุมฯ โดยคุณตาสำลี โพธิมณี วัย 73 ปี หัวหน้ากลุ่มใช้สารจุลินทรีย์ ลดใช้สารเคมี ผู้ที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ เล่าให้ฟังว่า ตัวเองได้ทำอาชีพการเกษตรมาหลายสิบปี โดยมีที่ดินอยู่ 2 ไร่ มีการจัดสรรพื้นที่ให้เป็นบ่อเลี้ยงปลา บ่อเก็บน้ำ ปลูกพืชชนิดต่างๆ เช่น กล้วยหอมทอง กล้วยน้ำว้า ข้าวโพด พริก หน่อไม้ฝรั่ง ในปีนี้ก็ถือว่าแล้งเป็นอย่างมาก แล้งที่สุดในรอบ 50 ปีเลยก็ว่าได้ พืชผลทางการเกษตรเสียหาย โดยเฉพาะกล้วยหอม จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนพืชให้ใช้น้ำน้อย ตามที่รัฐบาลร้องขอ เช่น ข้าวโพด แต่ตัวเองก็ยังโชคดีที่อยู่ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำยางชุม ให้พอมีน้ำไว้ใช้ได้บ้าง
คุณตาสำลี กล่าวว่า ตัวเองก็เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำยางชุมฯ หากไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ภัยแล้ง ก็สามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำในเต็มที่ โดยข้อดีของอ่างเก็บน้ำคือ เกษตรกรสามารถวางแผนการปลูกพืชไว้ล่วงหน้าได้ ทำให้มีผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการของตลาด อีกทั้งยังอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำอีกหลายชนิด
จากนั้น นายพลากร ได้ปล่อยพันธุ์ปลากินพืช จำนวน 300,000 ตัวลงสู่อ่างเก็บน้ำยางชุมฯ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ปลา รวมทั้งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนให้กับราษฎรด้วย
สำหรับ โครงการอ่างเก็บน้ำยางชุมฯ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2516 แล้วเสร็จเมื่อปี 2523 มีลักษณะเป็นเขื่อนดินขนาดสูง 23 เมตร ยาว 1,500 เมตร สันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ขนาดความจุ 32 ล้านลูกบาศก์เมตร มีระบบส่งน้ำคลองสายใหญ่ฝั่งขวาและฝั่งซ้ายยาวรวมประมาณ 24 กิโลเมตร พื้นที่ชลประทาน 15,300 ไร่ มีวัตถุประสงค์เป็นแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ทำการเพาะปลูก อุปโภคบริโภค ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง บรรเทาอุทกภัยในบริเวณลุ่มน้ำ กุยบุรี ผลักดันน้ำเค็มในคลองกุยบุรีในช่วงฤดูแล้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 และวันที่ 6 ตุลาคม 2546 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ให้พิจารณาเพิ่มความจุของอ่างเก็บน้ำยางชุมฯ พิจารณาก่อสร้างสายต้นน้ำ สระน้ำขนาดเล็กตามลำห้วยเหนือพื้นที่อ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ สำนักงาน กปร. ดำเนินการสนองพระราชดำริโดยบูรณาการการทำร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนงบประมาณในการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพของอ่างเก็บน้ำยางชุมฯ โดยใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเก็บกักน้ำได้ถึง 41.10 ล้านลูกบาศก์เมตร ราษฎรมีพื้นที่ทำการเกษตรเพิ่มขึ้นอีก 5,000 ไร่ ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำยางชุม มีปริมาณน้ำจำนวน 18.60 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 45.25 ของปริมาณน้ำเก็บกักทั้งหมด ส่งผลให้ราษฎรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพิ่มมากขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น