*12ปีเหตุมัสยิดกรือเซะ/สนช.ถกเพิ่มโทษความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์/ศอตช.สอบทุจริตบ่อน้ำบาดาล*

28 เมษายน 2559, 07:08น.


+++สถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ ครบรอบ 12 ปี เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมืองปัตตานี หน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แจ้งเตือนเจ้าหน้าที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ให้ตั้งจุดตรวจจุดสกัดและตรวจเข้มรถทุกคันเพื่อป้องกันการก่อเหตุรุน แรงในพื้นที่ พร้อมทั้งตรวจบัตร ประชาชน มีการเดินลาดตระเวน ทั้งชุดนอกเครื่องแบบและในเครื่องแบบตามจุดเสี่ยงต่างๆ เพื่อ ป้องกันระวังภัยที่อาจเกิดขึ้นรวมทั้งสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะจุดตรวจที่ กรือเซะมีการเข้มงวดเป็นพิเศษเพราะเกรงว่าคนร้ายอาจสร้างสถานการณ์ในเชิงสัญลักษณ์เพื่อตอกย้ำความรุนแรง หรือ อาจจะมีมือที่สามสร้างสถานการณ์



+++เรื่องการควบคุมตัวบุคคลที่มีพฤติกรรมทำผิดต่อพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.อ.วินธัย สุวารี  โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ทหารได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ควบคุมตัวผู้มีพฤติกรรมกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ 10 คนไว้จริง เจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลมานานแล้ว และคสช.ได้รับความร่วมมือจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ  ยังไม่ตั้งข้อหาแต่เรียกมาปรับทัศนคติ โดยจะอยู่ในการควบคุมตัวของ คสช.ไม่เกิน 7 วัน โฆษกคสช. กล่าวว่า 8 คนถูกควบคุมตัวอยู่ที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) แล้วส่วน 2 คนถูกควบคุมตัวอยู่ที่ จ.ขอนแก่น ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะส่งตัวมายังกรุงเทพฯ หรือไม่ ทั้ง 10 คนมีพฤติกรรมร่วมกัน มีความเชื่อมโยงกันในทางคดีและการกระทำความผิด หลังจากที่เจ้าหน้าที่ได้ติดตามพฤติกรรมทั้งหมดมาระยะหนึ่งแล้ว



+++ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) วันนี้ จะพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)เป็นผู้เสนอ สำหรับผู้ฝ่าฝืนตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่น ถึง 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่น ถ้ากระทำความผิดต่อข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคง ปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ผู้กระทำความผิดจะได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 3 แสนบาท แต่หากการกระทำความผิดที่เป็นเหตุทำให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 1 แสน ถึง 4แสนบาท แล้วแต่ลักษณะของฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว



+++พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รรท.ผบช.น.) ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 4 จับกุมนางจีรพันธุ์ ตันมณี อายุ 59 ปี ประธานกองทุนรัฐวัฒน์ตันมณีเพื่อสิทธิคนออทิสติก เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาเลขที่ 856/2559 ข้อหาเผยแพร่ข้อความก้าวร้าว รุนแรง และหยาบคาย ชักจูงโน้มน้าวประชาชนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรืออาจถูกห้ามเลือกตั้ง 5 ปี จากการสอบปากคำเบื้องต้นผู้ต้องหาอ้างว่า เป็นการทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และคิดว่ากฎหมายยังไม่มีผลบังคับ คิดว่าโพสต์ไปแล้วไม่มีอะไร เจ้าหน้าที่ตำรวจได้อธิบายให้ทราบ ผู้ต้องหาสำนึกผิด เบื้องต้น ขอยื่นคำร้องประกันตัว ได้ให้อำนาจสอบสวนพนักงาน ว่าให้ประกันหรือไม่ ให้อยู่ในดุลยพินิจ เพราะยังไม่มีพฤติกรรมหลบหนี 



+++กรณีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เรียกร้องให้องค์กรระหว่างประเทศร่วมสังเกตการณ์การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในที่ประชุมร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้พูดคุยถึงเรื่องนี้ เห็นว่าการให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามามีค่าใช้จ่าย ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย และอาจเป็นช่องทางให้เกิดความไม่สงบได้ จึงไม่มีความจำเป็น แต่คิดว่าในการเลือกตั้งปี 2560 ต้องเชิญมาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้สมัครทุกฝ่าย เพราะมีเรื่องการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้สมัคร แต่ประชามติไม่มีได้เปรียบเสียเปรียบ ไม่มีการแข่งขัน ประชาชนบอกว่ารับหรือไม่รับก็จบ หากองค์กรระหว่างประเทศจะเข้ามาเองสามารถทำได้ ต้องไปคุยกับ กกต.



+++เมื่อถามถึงกรณี กกต.แจ้งความเอาผิดผู้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า  เห็นด้วยกับบางฝ่ายเรียกร้องให้ กกต.ชี้แจงให้ชัดว่าอะไรทำได้-ไม่ได้ ส่วนการทำประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนร่วมลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม เป็นหน้าที่หลักของ กกต. ส่วนราชการไหนจะร่วมรณรงค์ก็ต้องหารือ กกต. แต่ถ้าไม่ปรึกษา กกต. ก็ต้องเสี่ยงเอาเอง



+++พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เข้าไปดู แล้วก็ให้ศาลตัดสินว่าผิดหรือถูก กรณีการเคลื่อนไหวรณรงค์รับ-ไม่รับ ประชามติของหลายภาคส่วน นายกฯ ระบุว่า ต้องไปดูที่กฎหมาย อะไรที่ทำได้ ทำไม่ได้ และเป็นหน้าที่ของกกต. มีนโยบายในการรักษากติกา นายกฯ ระบุว่า เพียงแต่เตือนว่ากฎหมายมีแล้ว คนต้องทำตามกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องสั่ง เพราะเป็นหน้าที่ คสช.และรัฐบาลที่ต้องทำให้ทุกหน่วยงานเคารพกฎหมายของตัวเอง แล้วก็รับผิดชอบกันไป



 +++นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้แจ้งให้ ทุกจังหวัดเตรียมจัดตั้งศูนย์สนับสนุนการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ในระดับจังหวัด และระดับอำเภอ และให้เตรียมการคัดเลือกวิทยากรทุกระดับร่วมกันลงพื้นที่เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เนื้อหาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนระหว่างวันที่ 1-20 ก.ค.



+++คดีทุจริต พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) พร้อมนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี คณะกรรมการ ป.ป.ท. และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แถลงความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบโครงการอุดกลบบ่อน้ำบาดาล ปีงบประมาณ 2552-2558 หลังปรากฏข้อพิรุธ ต้องสงสัยว่าอาจมีเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า เรื่องน้ำกำลังมีปัญหาอย่างมาก บางโครงการของโครงการบริหารจัดการน้ำตรวจพบเมื่อปี 2557 เจอข้อบกพร่อง จึงได้เชิญอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มาชี้แจงโครงการดังกล่าวให้ทราบว่ามีข้อพิรุธว่ามีความไม่ชอบมาพากลอย่างไร เพราะในปี 2558 ไม่อยากให้เกิดปัญหาอีก



+++นายประยงค์ กล่าวว่า มีการไปตรวจพบการอุดกลบบ่อบาดาลที่จะต้องอุดกลบทั้งหมดประมาณ 40,000 บ่อ ตั้งแต่อดีตจนเมื่อปี 2557 มีผู้ร้องเรียนเข้ามาว่ามีการอุดกลบบ่อน้ำบาดาลไม่ถูกต้อง เมื่อสอบในพื้นที่พบไม่ได้ทำตามขั้นตอน อย่างน้อยต้องดำเนินการ 1-2 วัน แต่เข้าไปไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น



+++พล.ต.อ.จรัมพร กล่าวว่า บ่อน้ำบาดาลที่ ป.ป.ท.ตรวจสอบพบในปี 2557 มีการตั้งงบ 103 ล้านบาท อุดกลบบ่อน้ำบาดาลจำนวน 4,886 บ่อ เฉลี่ยบ่อละ 16,000-18,000 บาท พบข้อเท็จจริงว่าการอุดกลบปกติจะมีมาตรฐานเพื่อป้องกันการปนเปื้อนชั้นน้ำบาดาล ต้องเป่าเพื่อล้างบ่อ และใช้น้ำซีเมนต์อัดลงไป พบว่าไม่มีการดำเนินการแต่เบิกเงินเต็มจำนวน ใบเสร็จเบิกจ่ายซื้อน้ำมัน ซื้อปูน ก็ปลอมแปลง การตรวจสอบตั้งแต่ระดับช่างจะมี ซี 2 หรือซี 4 รับผิดชอบในการอุดกลบ ตามด้วยหัวหน้าโครงการ ผอ.โครงการ และอยู่ในเขตพื้นที่ไหน ผอ.เขตนั้นจะมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า วันนี้ จะลงพื้นที่พร้อมกับ พล.อ.ไพบูลย์ ตรวจสอบโครงการอุดกลบบ่อบาดาลใน จ.สกลนคร ด้วย



 



 

ข่าวทั้งหมด

X