การปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "ระบบโครงสร้างพื้นฐานก้าวไกล สู่ใจประชารัฐ" ภายในงาน "Together for Sustainability ร่วมกัน ก้าวไกล สังคมไทยยั่งยืน" ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต กระทรวงคมนาคมมีความจำเป็นต้องใช้ระบบไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ทั้งระบบการขนส่งสาธารณะ ในระบบทางราง น้ำ และทางถนน ซึ่งจะมีการนำเทคโนโลยีที่จะทำให้เกิดพลังงานสะอาดมาใช้ ลดการใช้น้ำมันลง และระบบไฟฟ้าก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด โดยขณะนี้ต้องยอมรับว่าการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของไทยเป็นไปอย่างล่าช้า
การพัฒนาโครงสร้างคมนาคมขนส่งที่ทางกระทรวงคมนาคมกำลังเร่งดำเนินการ คือ การก่อสร้างรถไฟรางคู่ และการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ที่กำลังเจรจาต่อรองกับต่างประเทศ เพราะมีการใช้งบประมาณกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งถ้าหากโครงการนี้ผ่านและก่อสร้างเสร็จโดยเร็ว จะมีผลประโยชน์ในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมให้ดีขึ้น สร้างความเติบโตในอนาคต และมีผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจจะสูงกว่าผลกำไรอย่างแน่นอน แต่ทั้งนี้อาจเกิดความล่าช้า เนื่องจากจะต้องมีการศึกษาในเรื่องความเหมาะสม และผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและชุมชนด้วย แต่หากโครงการนี้ผ่าน ก็จะต้องมีการใช้กระแสไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก และแหล่งจ่ายไฟฟ้าหลักก็จะต้องเป็นพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ยังมีระบบขนส่งรถโดยสารสาธารณะ ที่กระทรวงคมนาคมจะต้องมีการผลักดันให้เปลี่ยนมาใช้ระบบรถเมล์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและประหยัด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ อีกทั้งยังเป็นการประหยัดพลังงานน้ำมันอีกด้วย ขณะระบบการขนส่งทางเรือเองก็มีความต้องกรใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ในส่วนของท่าเรือต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จะต้องมีการเตรียมความพร้อมและคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อรองรับสิ่งเหล่านี้ด้วย และแน่นอนว่าจะมีผลประกอบการที่ดี
สิ่งสำคัญที่การไฟฟ้าจะต้องดำเนินการนอกเหนือจากเรื่องเหล่านี้แล้ว จะต้องมีการรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันประหยัดไฟฟ้า และจะต้องมีการประเมินว่าหลังจากรณรงค์ไปแล้ว ประชาชนมีการเปลี่ยนพฤติกรรมหรือไม่