*กกต.ประชุมสรุปสิ่งที่ทำได้-ไม่ได้การทำประชามติร่างรธน. 29เม.ย.*

25 เมษายน 2559, 21:00น.


ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) มีการหารือเรื่องการทำประชามติ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติ 3 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างระเบียบกกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการออกเสียงประชามติพ.ศ.2.ร่างระเบียบกกต.ว่าด้วยการใช้จ่ายเงินในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติพ.ศ. 3.ร่างระเบียบกกต.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญฯ ขั้นตอนการออกเสียง การจัดสรรเวลาออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์พ.ศ. คาดว่า จะมีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาได้ในวันเดียวกันนี้ และมีผลบังคับใช้ในวันถัดไป และวันที่ 29 เม.ย.จะพิจารณาร่างประกาศกกต.ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม



ที่ประชุมได้พิจารณาข้อเสนอของสำนักงานของกกต.ว่าอะไรทำได้ ไม่ได้ในการออกเสียงประชามติ ซึ่งกกต.ได้ถกเถียงกันมาก เพราะต้องการให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพตามมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติฯ รวมทั้งมีการยกกรณีต่างๆ มาหารือ และเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญควรรอประธานกกต.กลับจากเดินทางดูงานต่างประเทศ จึงให้ฝ่ายเกี่ยวข้องปรับปรุงให้ชัดเจน ก่อนที่จะประชุม เพื่อให้ความเห็นชอบอีกครั้งในวันที่ 29เม.ย.นี้ และประธานจะแถลงเรื่องดังกล่าวด้วยตัวเอง  ยืนยันว่าแนวทางที่กกต.จะประกาศจะยึดความเป็นธรรม และสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ เช่น การให้สัมภาษณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก ส่งข้อความผ่านไลน์ เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่สามารถกระทำได้ไม่ขัดกฎหมาย แต่ต้องไม่หยาบคาย ก้าวร้าว รุนแรง เป็นต้น อย่างการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว หรือจะติดป้ายหน้าบ้านสามารถทำได้ ต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม หากติดป้ายใหญ่บนอาคารอาจไม่เหมาะ เราจะพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าว ต้องทำโดยสุจริตใจ บนพื้นฐานหลักกฎหมายและข้อเท็จจริง



นายสมชัย กล่าวว่า ในส่วนของการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ กกต.จะเชิญผู้บริหารสถานีฟรีทีวี 6 สถานี ประกอบด้วยช่อง 3 5 7 9 11และไทยพีบีเอส มาหารือ และให้จัดสรรเวลาช่วงไพร์มไทม์ระหว่างเวลา 17.00-22.00 น. ในการเผยแพร่กิจกรรมประชามติ ที่กกต.กำหนดไว้ 2 รูปแบบ รวม 12 ครั้ง ออกอากาศครั้งละครึ่งชั่วโมง โดย 6 ครั้งแรกจะเป็นเรื่องชี้แจงขั้นตอนการออกเสียงประชามติ โดยกกต. 2 ครั้ง เนื้อหารัฐธรรมนูญโดยกรธ.3 ครั้ง และเหตุผลการมีคำถามพ่วงโดยสนช.1 ครั้ง ส่วน 6 ครั้งหลังจะให้แต่ละสถานีไปตกลงกันเกี่ยวกับการเสนอเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของทั้งฝ่ายเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญให้ออกอากาศอย่างเท่าเทียมกัน โดยให้สถานีคัดเลือกพิธีกร และแขกรับเชิญเอง แต่รูปแบบรายการต้องสนทนาไม่ใช่ดีเบต ซึ่งทั้ง2 รูปแบบจะเป็นการบันทึกเทป และนำมาออกอากาศซ้ำได้ อย่างไรก็ตามเนื้อหาและรูปแบบรายการสถานีต้องไม่ให้ขัดกฎหมาย



CR:แฟ้มภาพ 

ข่าวทั้งหมด

X