นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. เตรียมส่งหนังสือถึง ธนาคารกรุงเทพ ให้มาชี้แจงกรณีบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ ไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ในวันที่ 25 เม.ย.นี้ หลังจากก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช. เคยส่งหนังสือเชิญให้มาชี้แจงวันนี้ (22 เม.ย.) แต่ทางธนาคารกรุงเทพปฏิเสธ ซึ่งการทำหนังสือครั้งนี้ เป็นการใช้อำนาจตามหลักเกณฑ์การปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 และคาดว่า จะสรุปตัวเลขความเสียหายได้ ภายในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ หรือ ก่อนการประมูล 4จี รอบสอง ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ ซึ่งคาดว่า มูลค่าความเสียหายน่าจะอยู่ที่หลักหลายร้อยล้านบาท
ล่าสุด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค ได้ส่งหนังสือถึง สำนักงาน กสทช. โดยยืนยันว่า บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต ในนามบริษัทลูกของดีแทค จะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ รอบสอง เนื่องจากราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 75,654 ล้านบาท สูงกว่าราคาที่ดีแทคเสนอ
ด้านนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อธิบดีสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะประธาน คณะทำงาน ตรวจสอบความเสียหายกรณี บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ ไม่มาชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 90O เมกะเฮิรตซ์ กล่าวว่า วันนี้ ที่ประชุมฯ ได้นัดหารือเป็นครั้งที่สอง เพื่อพิจารณาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยจะนำเอกสารเกี่ยวข้องทั้งหมดมาพิจารณา เช่น เอกสารทางการเงิน ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การประกอบธุรกิจของแจสทั้งหมด ที่เคยให้จัดส่งตามมา หลังจากการประชุมนัดแรก รวมทั้งนำเรื่องการจัดประมูลรอบสองปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. มีคำสั่งให้กสทช. รีบดำเนินการมาพิจารณาด้วย ล่าสุด ยังไม่สามารถระบุตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ แต่ได้กำหนดกรอบการพิจารณาไว้แล้ว โดยจะดูเงื่อนไข และรายละเอียดตามเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz ในครั้งนี้เนื่องจากมีชุดคลื่นความถี่ทั้งหมดจำนวน 50 MHz ที่ถือครองมากพอสำหรับการให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่องแล้ว เพื่อความมั่นใจในการเติบโตอย่างยั่งยืน ดีแทคยังมุ่งมั่นจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอที่จะรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของความต้องการใช้งานอินเตอร์เน็ตของฐานลูกค้า ก่อนที่จะมีคลื่นความถี่ตามชุดที่ถือครองหมดสัมปทานประมาณปี 2561 เพิ่มเติมจากคลื่น 2100 MHz ที่ดีแทคยังถือครองใบอนุญาตซึ่งมีอายุใช้งานถึงปี 2570