บีบีซีรายงานว่า ขั้นตอนแรกที่นับว่าสำคัญมากในการทำให้อนุสัญญาสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกรุงปารีสเกิดผลในทางปฏิบัติจะเกิดขึ้นในวันนี้ คาดว่า 155 ประเทศจะร่วมลงนามในข้อตกลงอย่างเป็นทางการที่สำนักงานยูเอ็นในนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ จะส่งผลให้ข้อตกลงนี้ได้รับการนำไปใช้ปฏิบัติจริงภายในอึก 1 ปีข้างหน้า แม้ว่าประธานาธิบดีบารัก โอบามาของสหรัฐฯไม่ได้ร่วมพิธีลงนามครั้งนี้ แต่ผู้นำโลกที่คาดว่าจะร่วมลงนามในครั้งนี้รวมถึงประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ ของฝรั่งเศสและนายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโดของแคนาดา การร่วมลงนามอย่างเดียวย่อมจะไม่ทำให้ข้อตกลงกรุงปารีสเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง แต่บทบังคับทางกฏหมายของข้อตกลงนี้บ่งชี้ว่าแต่ละประเทศจะต้องทำขั้นตอนต่อไปคือ การกลับไปขอสัตยาบันจากรัฐสภาของตนเอง ที่ผ่านมายูเอ็นระบุว่า การที่เกือบทุกประเทศทั่วโลกร่วมลงนามในอนุสัญญานี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันของทั่วโลกในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน
หลายคนตั้งข้อสังเกตุว่าสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เจตน์จำนงของผู้นำการเมืองโลกเช่น สหรัฐฯ ขณะที่บางประเทศเช่นอินเดียและญี่ปุ่นจะนำเอกสารนี้ไปขอสัตยาบันจากรัฐสภา ขณะที่บางประเทศจะต้องออกกฎหมายใหม่รองรับข้อตกลงนี้ คาดว่ากลุ่มสหภาพยุโรป(อียู)จะอยู่รั้งร้ายในประเด็นนี้ เนื่องจากทั้ง 28 สมาชิกกลุ่มอียูยังไม่สามารถสรุปข้อตกลงว่า จะร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสัดส่วนเท่าใด ด้านหมู่เกาะมาร์แชลล์,ปาเลา, ฟิจิ และสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทำขั้นตอนการขอสัตยาบันจากรัฐสภาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะสามารถเข้าร่วมในข้อตกลงนี้ได้ภายในวันที่ 22 เมษายนนี้ อนุสัญญานี้จะเริ่มมีผลใช้บังคับได้ก็ต่อเมื่อมีอย่างน้อย 55 ประเทศ ขอสัตยาบันจากรัฐสภาของตนเรียบร้อยแล้ว
ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์และนักวิเคราะห์ต้องการให้ทุกประเทศทั่วโลกเร่งทำตามข้อตกลงนี้โดยเร็ว โดยก่อนหนี้คณะนักวิจัยจากชาแธม เฮาส์ สถาบันสำหรับข้อมูลด้านกิจการต่างประเทศของอังกฤษระบุว่าการปล่อยให้ทั่วโลกเลื่อนแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศไปจนถึงปี 2568 ตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงกรุงปารีส จะทำให้ยากที่จะปรับลดอุณหภูมิโลกลงอีก 2 องศาเซลเซียส