การประชุมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมีบรรดารัฐมนตรี ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อรายงานความก้าวหน้าของ 12 คณะทำงาน ระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม 2559
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะต้องวางโครงสร้างการทำงาน การบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งอะไรที่ทำได้ก็ต้องดำเนินการก่อน ในระยะเวลาอันสั้น ในช่วงการปฏิรูประยะที่ 1 ให้มีความชัดเจนขึ้นภายใน2ปี โดยต้องเน้นย้ำการสร้างความเข้าใจสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญ และขอให้ร่วมกันสร้างความไว้วางใจและเชื่อใจระหว่างกันในทุกฝ่าย และไม่ทำให้ประชาชนเป็นหุ่นยนต์ และต้องร่วมกันสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ พัฒนาทรัพยากรบุคคล ไม่ให้ติดกับดักความขัดแย้งจนประเทศอยู่กับที่ และเติบโตด้วยความเข้มแข็งไปพร้อมๆกันทั้งประเทศ ทำให้ประชาชนเข้าใจสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ และขอย้ำว่าการดำเนินการสานพลังประชารัฐ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ ให้กับภาคธุรกิจเอกชนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามส่วนตัวไม่สนใจคนที่ออกมาบิดเบือนเพราะจะเดินหน้าทำงาน ซึ่งขณะนี้ไม่มีเวลาทะเลาะกันอีกแล้ว
ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า การทำงานของคณะกรรมการสานพลังประชารัฐทั้ง 12 คณะ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับเอกชน จะสามารถช่วยพัฒนาในด้านต่างๆ ของประเทศได้ โดยตอนนี้มีความคืบหน้า ทั้งในส่วนของการปฏิรูปภาคการเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า การพัฒนาด้านการศึกษาที่จะใช้บุคลากรทางด้านอาชีวศึกษาในกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ และการปรับปรุงข้อกฎหมายสำคัญเพื่อให้ภาคธุรกิจเดินหน้าได้อย่างสะดวก ซึ่งเชื่อว่าหากดำเนินการได้เร็วภายใน 2 ปี จะช่วยให้ประเทศไทยขยับอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศ จากปัจจุบันอยู่ที่ 49 ขึ้นมาอยู่ใน 20 อันดับแรก ซึ่งจะส่งผลดีระยะยาวแม้จะมีการปรับเปลี่ยนรัฐบา
การทำงานของคณะกรรมการสานพลังประชารัฐทั้ง 12 คณะ เป็นแนวทางการขับเคลื่อนการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน จะเน้นไปที่การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามแนวทางพัฒนาประเทศไทย 4.0 ที่ใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและพัฒนาเข้ามาพัฒนาการผลิตมากขึ้น โดยรัฐบาลที่ต้องการยกระดับรายได้ของประชาชนในพื้นที่ควบคู่ไปกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะมีการลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลและความต้องการของแต่ละชุมชน นำไปสู่การวางแผนสนับสนุนและพัฒนาองค์ความรู้สู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป