หลังจากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.0 (USGS) เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2559 เวลา 23.25 น. ตามเวลาประเทศไทย ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองคุมาโมโตะ บนเกาะคิวชูทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศญี่ปุ่น ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร และก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 เมษายน เวลา 19.26 น. และเวลา 22.03 น. ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.2 และ 6.0 ตามลำดับ แรงสั่นสะเทือนทำให้อาคารบ้านเรือนถล่มและเกิดไฟไหม้ มีรายงานผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ
กรมทรัพยากรธรณีและกรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกันวิเคราะห์แล้วพบว่า แผ่นดินไหวขนาด 6.2 และขนาด 6.0 เมื่อวันที่ 14 เมษายน จัดว่าเป็น "แผ่นดินไหวนำ (Foreshocks) ของ แผ่นดินไหวหลักขนาด 7.0 (Mainshock) เมื่อวันที่ 15 เมษายน เหตุการณ์นี้ มี แผ่นดินไหว Foreshocks ขนาด 4.5 – 6.2 จำนวน 18 ครั้ง และมีแผ่นดินไหวตาม (Aftershocks) ขนาด 4.5 - 5.7 จำนวน 15 ครั้ง (15 เมษายน เวลา 10.00 น.) ทั้งนี้คาดว่าจะมีแผ่นดินไหวตาม ที่คนรู้สึกได้อีกใน 1 - 2 สัปดาห์นี้
เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดมาจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนตามแนวระนาบ (เหลื่อมขวา) ที่วางตัวตามแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ มีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร เป็นผลมาจากการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกทะเลฟิลิปปินส์ลงใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเซียด้วยอัตรา 58 มม./ปี ซึ่งในอดีตเมื่อเดือนเมษายน 2518 ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.1 ศูนย์กลางห่างจากเหตุการณ์นี้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร และเมื่อเดือนมีนาคม 2548 ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.6 ทางชายฝั่งตอนเหนือของเกาะคิวชู ทำให้มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 1,000 คน
ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนแนวแผ่นดินไหวและภูเขาไฟ จึงมีแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง-ใหญ่ เกิดขึ้นเป็นประจำ คนไทยที่ไปท่องเที่ยวญี่ปุ่น ควรต้องหาความรู้ในการเผชิญเหตุและเอาชีวิตรอด หากประสบเหตุการณ์แผ่นดิน โดยสามารถศึกษาได้จาก website ของหน่วยงานภาครัฐของไทย เช่น กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตุนิยมวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
CR:USGS