*เตรียมรับมือปชช.ขากลับ/กรธ.ประสานสนช.-สปท.ทำความเข้าใจร่างรธน./กู้ภัยญี่ปุ่นเร่งค้นหาผู้รอดชีวิต*

15 เมษายน 2559, 17:51น.


+++สถานการณ์สงกรานต์เริ่มมีการเดินทางกลับมากันบ้างแล้ว พ.อ.พีรวัชฌ์ แสงทอง โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยว่า พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ในฐานะรอง ผอ.รมน. ระบุว่า จากการประเมินภาพรวมเรื่องอื่นๆไม่น่ากังวลเท่ากับเรื่องของอุบัติเหตุ การสูญเสียค่อนข้างสูง รองผอ.รมน. กำชับเจ้าหน้าที่ทุกส่วน ช่วยกันดูแลเรื่องการดำเนินมาตรการในช่วงขากลับ ประสานงานหน่วยต่างๆ ในแต่ละพื้นที่อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในเส้นทางสายรอง และเส้นทางสายย่อย ทางลัดทางร่วม ขอความร่วมมือประชาชนที่ง่วงนอนหรือมีการดื่มแอลกอฮอล์ งดขับขี่อย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งเน้นย้ำเรื่องการข่าวด้านความมั่นคง ที่อาจจะมีการลักลอบมากับพี่น้องประชาชน ในเรื่องของยาเสพติด แรงงานผิดกฎหมาย และเรื่องพฤติกรรมความผิดด้านความมั่นคง



+++การเตรียมดูแลประชาชนเดินทางกลับ นายนพรัตน์ การุณยะวนิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบริหารการเดินรถ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า บขส. เตรียมพร้อมรองรับประชาชนเดินทางกลับจากต่างจังหวัดเข้าสู่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่16 –18 เมษายน บขส. จัดรถเสริมจากเที่ยวปกติวันละประมาณ 1,400 เที่ยว รวมประมาณ 8,400 เที่ยว สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณวันละ 1แสน77,000 คน และ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่เดินทางในช่วงดังกล่าว



+++บขส.ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก จัดจุดจอดส่งผู้โดยสารในช่วงการเดินทางขากลับเข้ากรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 16 – 18 เมษายน 2559 เตรียมรถแท็กซี่ให้เพียงพอด้วย Call Center 1490 เรียก บขส. ตลอด 24 ชั่วโมง



+++คืบหน้าเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.5 บนเกาะคิวชู ทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่นเมื่อช่วงดึกวานนี้ ลึกใต้ดิน 10 กิโลเมตร มีคนเสียชีวิต 9 ศพ มีคนบาดเจ็บกว่า 1,100 คน สถานเอกอัครราชทูตไทยกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น รายงานวันนี้ 15 เมษายน 2559 สถานการณ์แผ่นดินไหว จนถึงเวลา 15.32 น. (เวลาญี่ปุ่น) ว่ายังมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่องในเกาะคิวชู โดยเฉพาะจังหวัดคุมาโมโตะ (ความรุนแรงระดับ 4)  กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นเตือน คาดว่าจะมีแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่องในช่วง 1 สัปดาห์ต่อจากนี้ โดยอาจจะมีความรุนแรงถึงระดับ 6 ขอให้ระมัดระวังไม่อยู่ใกล้อาคารที่อยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์หรือใกล้หน้าผาหรือบริเวณอื่นใดที่มีฐานไม่แข็งแรงคาดว่าจะมีฝนตกหนักและลมแรงในช่วงบ่ายของวันที่ 16 เมษายนจนถึงวันที่ 17 เมษายนนี้ จึงขอให้เฝ้าระวังแผ่นดินถล่ม ฟ้าผ่า และลมกรรโชกแรงด้วย



+++แรงสั่นสะเทือนหลังแผ่นดินไหว (อาฟเตอร์ช็อก) ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทางตะวันตกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น มีรายงานเกิดอาฟเตอร์ช็อคขนาด 5.7-6.4 ตามมาอีกกว่า 130 ครั้งในช่วงบ่ายวันนี้



+++ บีบีซีและบรรษัทกระจายเสียงเอ็นเอชเคของญี่ปุ่น รายงานว่า ทีมกู้ภัยหลายพันคนของญี่ปุ่นรวมถึงตำรวจ-ทหารและพนักงานดับเพลิง ยังคงเดินหน้าค้นหาผู้ที่ติดค้างอยู่ใต้ซากอาคารบ้านเรือนอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้รถบรรทุกสิ่งบรรเทาทุกข์คันแรกได้ไปถึงพื้นที่ประสบภัยแล้ว ประชาชน 11,000 ครัวเรือนไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ และอีกกว่า 58,000 คน ไม่มีน้ำประปาใช้



+++สำหรับผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในเมืองมาชิกิ ไม่ห่างจากจังหวัดคุมาโมโตะ หลังอาคารอพาร์เมนท์หลังหนึ่งถล่มลงมา และอาคารบ้านเรือนอีกหลายแห่งได้รับความเสียหาย ผนังกำแพงและหลังคาของปราสาทประจำจังหวัดคุมาโมโตะได้รับความเสียหาย ประชาชนกว่า 4 หมื่นคนวิ่งหนีออกจากอาคารบ้านเรือนขณะเกิดเหตุขณะเดียวกันรถไฟความเร็วสูงขบวนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้บรรทุกผู้โดยสารในช่วงเกิดเหตุ ตกราง การบริการรถไฟสายอื่นๆหยุดให้บริการชั่วคราว การรถไฟของญี่ปุ่นส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจว่าเส้นทางรถไฟเสียหายหรือไม่ ชาวบ้านหลายคนในพื้นที่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวค้างแรมอยู่นอกบ้านเมื่อคืนนี้ แต่บางคนกลับเข้าไปที่บ้านบ้างแล้ว



+++สำนักงานเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุวิทยาของญี่ปุ่น ตั้งข้อสังเกตถึงแรงสั่นสะเทือนในบางท้องที่ว่ามีลักษณะรุนแรงพอๆกับช่วงที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9.0 เมื่อปี 2554 แต่คราวนี้ไม่มีการแจ้งเตือนเรื่องคลื่นยักษ์สึนามิ และเตาปฏิกรณ์ 2 ตัวของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เซนได ทางตอนใต้ของเกาะคิวชูไม่ได้รับผลกระทบ



+++ด้านนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ผู้นำญี่ปุ่นกล่าวว่ารัฐบาลขอสวดมนต์ให้ดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ไปสู่สุคติ พร้อมทั้งขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บและผู้ประสบภัยทุกคน ญี่ปุ่น ประสบเหตุแผ่นดินไหวอยู่เป็นประจำ แต่กฎหมายที่เข้มงวดเรื่องมาตรฐานอาคารและสิ่งปลูกสร้างของญี่ปุ่นส่งผลให้อาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่ไม่ได้รับเสียหายมากนัก



+++การเตรียมความพร้อมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เรื่องการทำความเข้าใจสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติ ว่า ที่ประชุมกรธ.มีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาจัดทำเนื้อหาในการรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีนายศุภชัย ยาวะประภาษ กรธ. เป็นประธานอนุกรรมการฯ ดำเนินการ คณะอนุกรรมการฯ จัดทำเนื้อหาได้เสนอแนวทางรณรงค์เบื้องต้น คือ การรณรงค์และเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ จะแบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มวิทยากร , กลุ่มประชาชนทั่วไป และ ประชาชนเฉพาะกลุ่ม ทั้งสิ้น 12 กลุ่ม อาทิ ชาวนา, คนจน, สตรี, เด็ก, ผู้สูงอายุ, คนพิการ, วัยรุ่น, ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรุ่นใหม่, ชาวประมงพื้นบ้าน, ผู้ใช้แรงงาน, ชุมชนและท้องถิ่น อนุกรรมการฯ จะจัดทำเอกสารเพื่อประชาสัมพันธ์แยกเป็นประเด็นสำคัญๆ 16 หัวข้อ ได้แก่ การศึกษา, สุขภาพ, ที่อยู่อาศัย, ที่ดินทำกิน, ข้อมูลข่าวสาร, สิทธิที่จะได้รับการเยียวยา, สวัสดิการสังคม, บัตรเลือกตั้งใบเดียวลงคะแนนได้หมายเลขเดียว, สิทธิที่ทุกคนสามารถสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้, องค์กรอิสระ, การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น, สิทธิชุมชน, การจัดงบประมาณที่คำนึงถึงความหลากหลาย, ทรัพยากรธรรมชาติ, ภูมิปัญญาท้องถิ่น และผู้บริโภค



+++สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านการประชาสัมพันธ์ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. จะประชุมร่วมกับปลัดกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 19 เม.ย.ด้วย หลังจากที่ได้ขอความร่วมมือกรมการปกครองให้อบรมวิทยากรระดับท้องถิ่น หรือ ครู ก. ครู ข. และ ครู ค. เพื่อให้ลงพื้นที่พบปะชาวบ้านและสร้างความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญกับประชาชนในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 10 พ.ค.-30 ก.ค.  



+++นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า กรธ.มีหน้าที่จะต้องชี้แจงสาระของร่างรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน ส่วนคำถามพ่วงเป็นหน้าที่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ( สนช.)ที่จะไปชี้แจงเหตุผล ดังนั้น เวลาไปชี้แจงประชาชนจะต้องบอกว่ามี 2 ส่วนคือ ส่วนหนึ่งที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ และ อีกส่วนคือคำถามพ่วง หากรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เนื้อหาของคำถามพ่วงก็จะผนวกเข้าไปในรัฐธรรมนูญในภายหลัง ทั้งนี้ ในการออกไปเผยแพร่ ทางฝ่ายประชาสัมพันธ์ต้องประสานกับ สนช. และอาจจะรวมถึง สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ที่เป็นเจ้าของคำถาม เพื่อเปิดโอกาสให้ออกไปชี้แจงกับประชาชนพร้อมๆ กับ กรธ. เมื่อประชาชนสงสัยถามมาจะได้ตอบได้ ส่วนถ้าคำถามพ่วงผ่าน ศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นคนดูอีกทีว่าถูกต้องตรงตามประชามติหรือไม่ ถ้าไม่ถูกก็ต้องแก้ให้ตรง และถ้าถูกต้องก็จะใช้ได้



+++ชาวอินเดียหลายล้านคน ใน 13 รัฐทั่วประเทศ กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง ท่ามกลางอุณหภูมิที่ร้อนจัดถึง 43 องศาเซลเซียส ผู้คนจำนวนมากขาดแคลนทั้งน้ำกินน้ำใช้และน้ำที่ใช้ทำเกษตร คาดว่าสถานการณ์จะเลวร้ายลงอีก เนื่องจากปีนี้ฤดูร้อนยังอยู่อีกยาวนาน ชาวอินเดียถึงร้อยละ 60 มีอาชีพเกษตรกรรม แต่มีพื้นที่ไม่ถึงครึ่งที่ได้รับน้ำจากระบบชลประทาน ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากต้องพากันอพยพไปหางานทำในต่างถิ่น ขณะที่รัฐบาลของนายกรัฐนเรนทรา โมดี กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวทั้งหมด

X