*ที่ประชุมครม.รับทราบบริหารจัดการน้ำปีนี้ คาดฝนมาตามนัด พื้นที่แล้งซ้ำซากลดลง*

12 เมษายน 2559, 15:17น.


สถานการณ์การบริหารจัดการน้ำ ปี 2559 นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานมาตรการโครงการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของภาครัฐและการบริหารจัดการน้ำ  ในภาพรวมปี 2559 ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย รวมถึงการปรับตัวให้สอดรับกับสภาพภูมิอากาศและสถานการณ์ภัยแล้ง ของเกษตรกรทั้ง 17 มาตรการ ในวงเงินเกือบ 2 แสนล้านบาท ว่าสามารถช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับประโยชน์ ถึง 2 ล้านคน  มีระบบการระบายน้ำที่เพียงพอทั้งระบบอุปโภค และบริโภคได้ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้



ด้าน นายทองเปลว ทองจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน  ระบุถึงสถานการณ์น้ำใช้การว่า ไม่ปัญหาในการใช้อุปโภคบริโภค  ส่วนน้ำนอกเขตชลประทานนั้น บางพื้นที่ยังประสบปัญหา แต่ในเขตชลประธานมีการจัดสรรกันอย่างชัดเจน ทั้งรักษาระบบนิเวศ สำรองน้ำไว้ต้นฤดูฝน เพราะบทเรียนจากปีที่แล้วน้ำในเขตชลประทาน สามารถช่วยนอกเขตชลประทานได้ รวมถึงการบริหารจัดการร่วมกับการประปาส่วนภูมิภาค



สำหรับกรณีที่เขื่อนขนาดใหญ่มีน้ำน้อยกว่า ร้อยละ10  จะส่งผลกระทบเป็นครั้งคราว ยืนยันน้ำเพียงพอตลอดจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม  ทั้งนี้ในการช่วยเหลือประชาชนทั้ง 27 จังหวัด  จะเข้มข้น ทั้งการขุดเจาะน้ำบาดาล หากเจาะไม่ได้ก็ใช้วิธีรถขนน้ำเข้าในพื้นที่ประสบภัย



ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือ ปภ. กล่าวถึงพื้นที่แล้งซ้ำซากนั้นลดลงจากปีที่แล้ว  โดย ปภ. ได้ให้ความช่วยเหลือในเขตภัยพิบัติ ตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภาคม 2558  ทั้ง 30 จังหวัด  ซึ้งสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว 3 จังหวัด ทำให้ขณะนี้เหลือพื้นที่ ที่ประสบภัยแล้งเหลือ 27 จังหวัด  4354 หมู่บ้าน ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา



ส่วน นายสงกรานต์ อักษร รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา  กล่าวว่า การคาดการณ์ฝนที่จะเกิดขึ้นในปี 2559 ในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึงคาดว่าปีนี้เป็นไปตามฤดูกาล เริ่มมีฝนสัปดาห์ที่สามของเดือน พ.ค. และ มิ.ย. มากขึ้นกว่าค่าปกติที่มีอยู่ และฝนเดือนนี้มีน้อยกว่าค่าเฉลี่ย จะมีฝนตกเพียง 5-7 วันเท่านั้น ขณะที่ต้นเดือน พ.ค.มีการจับตาดูอุณหภูมิในฝั่งอันดามันจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำ ทำให้เกิดฝนช่วงต้นเดือน พ.ค. น่าจะดีขึ้น และฤดูกาลปีนี้จะใกล้เคียงฤดูกาลปกติ อาจทิ้งช่วง ปลายมิ.ย.จนถึง สัปดาห์ที่ 1-2 ของ ก.ค. และเดือน มิ.ย. อาจมีพายุจร ดีเปรสชั่นผ่านไทยตอนบน ทั้งฝนมรสุม พายุจร มากกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนจะสามารถทำเกษตรได้ในช่วง พ.ค.นี้หรือไม่นั้นจะต้องประเมินสถานการณ์เป็นรายสัปดาห์ต่อไป

ข่าวทั้งหมด

X