ร.ฟ.ท.พิจารณารถไฟทางคู่/คลังยังไม่ขึ้นแวต/มรภ.ไม่ขอเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน*

12 เมษายน 2559, 08:23น.


วันนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางเด่นชัย- เชียงราย- เชียงของ วงเงิน 77,000 ล้านบาท และบ้านไผ่-นครพนม วงเงินกว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งหากได้รับการอนุมัติก็จะเสนอเรื่องให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาเพื่อขออนุมัติโครงการ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยโครงการนี้อยู่ระหว่าง การพิจารณาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เมื่อผ่านแล้วก็จะนำเข้าสู่กระบวนการเปิดประมูลภายในปีนี้



นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง วงเงิน 152,000 ล้านบาท และกรุงเทพฯ-หัวหิน 94,600 ล้านบาทที่กำลังส่งเรื่องเข้า คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณา ส่วนโครงการก่อสร้างประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร วงเงิน 17,200 ล้านบาท เส้นทางลพบุรี - ปากน้ำโพ วงเงิน 24,800 ล้านบาท และเส้นทางหัวหิน – ประจวบคีรีขันธ์ วงเงิน  9,437 ล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ รฟท.และได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคมแล้วเพื่อเสนอ ครม. ภายในเดือนเมษายนนี้



นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ฝ่ายกลยุทธ์และแผน เปิดเผยว่า ในเดือนเมษายนนี้ รฟม.จะเสนอผลเจรจาระหว่าง รฟม.และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (บีอีเอ็ม) ในการลงทุนติดตั้งระบบและได้รับว่าจ้างเดินรถ 1 สถานี คือ จากสถานีเตาปูนไปสถานีบางซื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ คาะว่าจะใช้เวลาติดตั้งระบบได้เร็วที่สุด 8-10 เดือน จากเดิมที่กำหนดว่าจะใช้เวลาติดตั้งระบบ 15 เดือน



สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก หรือ เวิลด์ ทราเวล แอนด์ ทัวริสซึ่ม เคาน์ซิล (ดับเบิลยูทีทีซี) เลือกไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมใหญ่สุดยอดผู้นำประจำปี หรือ " WTTC Annual Global Summit" วันที่ 26-27 เมษายนนี้ ซึ่งนายศุกรีย์ สิทธิวณิช รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า  กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับ ททท. วางแนวคิดหลักส่งเสริมการประสานงานการท่องเที่ยวระหว่างภาครัฐและเอกชนตามที่ดับเบิลยูทีทีซีต้องการสร้างเครือข่ายหน่วยงานรัฐในประเทศจากกลุ่มเอเชียและอาเซียนเพิ่มขึ้น โดยเชิญรัฐมนตรีของประเทศอาเซียน 9 ประเทศเข้าร่วมประชุม ร่วมด้วยผู้ประกอบการเจ้าของธุรกิจท่องเที่ยว มาร่วมบรรยายพิเศษ  



นายเดวิด สโคว์ซิลล์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดับเบิลยูทีทีซี กล่าวว่า การจัดงานโกลบอลซัมมิท เป็นการรวมตัวของบุคคลระดับผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชนด้านท่องเที่ยวที่มีอิทธิพลมากที่สุด โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานทั่วโลกกว่า 284 ล้านตำแหน่ง ขณะที่ประเทศไทยในฐานะที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพ ถือว่ามีความแข็งแกร่งมากในเชิงเศรษฐกิจการท่องเที่ยว มีส่วนช่วยจ้างงานกว่า 5 ล้าน 9 แสนตำแหน่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 15.4 ของการจ้างงานทั้งหมด



ส่วนเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่มีแนวคิดในการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่จัดเก็บอยู่ในอัตราร้อยละ7 แม้ว่าจะมีข้อเสนอจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ให้ปรับขึ้นภาษีก็ตาม เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจยังต้องการปัจจัยสนับสนุนเพื่อการเติบโต และหากครบกำหนดเวลาในการคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 ในวันที่ 30 กันยายนนี้แล้วจะมีการพิจารณาขยายเวลา หรือมีการปรับขึ้นหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับนโยบายของฝ่ายรัฐบาล



นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และโครงการบ้านประชารัฐในส่วนของกรมธนารักษ์ รวมถึงนโยบายต่างๆ ที่สำคัญในช่วงหลังสงกรานต์ไปแล้ว



นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.58-มี.ค.59) มียอดขายและให้เช่าพื้นที่ทั้งหมด 1,750 ไร่ ซึ่งเกินกว่าเป้าหมาย 250 ไร่ จากที่ตั้งไว้ 1,500 ไร่ คาดว่าทั้งปีนั้นมียอดขายพื้นที่ 3,500 -4,000 ไร่ เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ปัจจุบัน 3,000 ไร่ ซึ่งปัจจัยหลักมาจากความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาครัฐ



สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอันดับ 1 คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง รองลงมา คือ อุตสาหกรรมเหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะในพื้นที่นิคมอมตะซิตี้ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมยาง พลาสติก หนังเทียม และอุตสาหกรรมปุ๋ย สี และเคมีภัณฑ์ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย (สุวรรณภูมิ) สมุทรปราการ และอุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช เป็นต้น



น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในเดือนมีนาคม 2559 ว่า มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศ 6,176 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เทียบกับเดือนมีนาคม 2558 และเป็นเดือนแรกรอบปีนี้มีการจดทะเบียนจัดตั้งสูงเกิน 6,000 ราย เป็นสถิติสูงสุดในรอบ 2 ปี นับจากเดือนสิงหาคม 2556 ที่มีการจดทะเบียนเกิน 6,000 ราย  ส่วนการจดทะเบียนเลิกกิจการเดือนมีนาคม 2559 มี 1,183 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เทียบกับเดือนมีนาคม 2558



ส่วนปัญหาภัยแล้ง นายณรงค์ฤทธิ์ ศรีสถิตย์นรากูร รองผู้ว่าการการประปานครหลวง(กปน.) ฝ่ายผลิตและส่งน้ำ เปิดเผยถึงกรณีที่น้ำทะเลจะหนุนสูงในช่วงสงกรานต์ (8เม.ย.-18เม.ย.) จากการติดตามค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล ซึ่งเป็นสถานีสูบน้ำเพื่อส่งไปผลิตประปาที่โรงผลิตน้ำประปาบางเขน ยังไม่เกินค่าความเค็มมาตรฐานการผลิตน้ำประปาที่ 0.25 กรัมต่อลิตร ทำให้เชื่อได้ว่าภาวะความเค็มจากนี้ไปจะไม่รุนแรงเท่าครั้งก่อน แต่มีการประสานกับกรมชลประทานเพื่อขอระบายน้ำเพิ่ม อย่างไรก็ตาม ขอเตือนประชาชนให้ร่วมกันประหยัดการใช้น้ำ แม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าการบริหารจัดการน้ำ จะทำให้มีน้ำเพียงพอไปจนถึงเดือนกรกฎาคม หากไม่เป็นไปตามคาดก็จะเกิดปัญหา



ส่วนเรื่องการศึกษา ยังมีกรณีที่คณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการสมาพันธ์นิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มีมติเป็นเอกฉันท์ ไม่เห็นด้วยกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เรื่องการเปิด-ปิดภาคเรียนตามอาเซียน โดยขอให้กลับไปใช้ช่วงเวลาเดิม เนื่องจากพบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะการที่กลุ่มนักศึกษาคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่ต้องฝึกปฏิบัติการสอนในชั้นปีที่ 4 เมื่อเลื่อนเปิด-ปิดภาคเรียน เวลาก็จะไม่ตรงกับการเปิดภาคเรียนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งทำให้สูญเสียโอกาสในการสมัครเข้าสอบแข่งขันในหน่วยงานราชการต่างๆ รวมถึงการสอบครูผู้ช่วย ที่เปิดสอบในเดือนมีนาคม แต่นักศึกษาจะจบการศึกษาในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ นักศึกษาชาย ที่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร ซึ่งบางคนยังไม่แน่ใจว่าเรียนจบแน่นอนหรือไม่ พอตัดสินใจเข้าไปจับใบดำใบแดงแล้ว ได้รับคัดเลือกเป็นทหาร กลับปรากฏว่าสอบไม่ผ่าน เรียนไม่จบ แต่ก็ต้องไปเป็นทหาร ซึ่งพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า รับจะไปหารือกับ ทปอ.ต่อไป



 



*-*

ข่าวทั้งหมด

X