หลังการหารือร่วมกันระหว่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ถึงขั้นตอนทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวว่า ในวันที่ 7 ส.ค.จะเป็นวันลงประชามติ ตั้งแต่08.00น - 16.00น. เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพรุ่งนี้ให้ความเห็นชอบงบประมาณการจัดทำประชามติ จำนวน 2,991ล้านบาท
ขั้นตอนการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้ทำเอกสารสรุป อินโฟร์กราฟฟิก และแอนนิเมชั่น ส่งให้กกต.นำไปเผยแพร่ กกต.ก็จะจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์เพื่อเผยแพร่ ด้วยการนำบุคคลต่างๆ มาแสดงความเห็น แต่ไม่ใช่การดีเบต เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว นอกจากนี้ กกต.ต้องไปกำหนดให้ชัดเจนว่าสิ่งใดสามารถทำได้หรือไม่ได้ พร้อมยืนยันว่า การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีความผิด แม้แต่เป็นการเชิญชวนไม่รับร่างก็ตาม แต่จะต้องไม่ใช้คำหยาบคาย ที่ก่อให้เกิดความแตกแยกหรือมีการบิดเบือน ส่วนบทลงโทษผู้กระทำผิดในการลงประชามติ ต้องยึดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติในมาตรา61 วรรค1และ2
ขณะที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะมีการทำคำอธิบายสั้นเกี่ยวกับคำถามพ่วง ส่งให้กกต.เผยแพร่ แต่ไม่สามารถปรับคำถามพ่วงได้อีก ย้ำว่า คำถามพ่วงไม่มีการชี้นำ ในส่วนกรธ.จะเดินสายเผยแพร่อธิบายเกี่ยวกับพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ และสนช.จะเดินสายอธิบายคำถามพ่วง พร้อมทำคำอธิบายสั้นเกี่ยวกับคำถามพ่วง ส่งให้กกต.ด้วย
รองนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า การที่พรรคการเมืองตั้งโต๊ะแถลงถึงกรณีการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะมีความผิดหรือไม่ว่าขึ้นอยู่กับเจตนาสุจริต และทำให้บรรยากาศเกิดประชาธิปไตยหรือไม่ หากล่อแหลมและบิดเบือน ไม่สามารถตั้งโต๊ะแถลงข่าวได้ ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองออกมาแถลงข่าว เชื่อว่าไม่มีผลกับฐานเสียงเดิมของแต่ละพรรค
ขณะที่นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวันนี้ ยังไม่มีข้อสรุป เพราะต้องให้ กกต. ไปประชุมทั้งเรื่องข้อดี ข้อเสีย รวมถึงบทลงโทษก่อน ซึ่งช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ 13.30น.จะมีการประชุมหลายหน่วยงานที่รัฐสภา ทั้ง กกต. กรธ. สนช. และอาจรวมถึงกระทรวงมหาดไทย
นอกจากนี้ นายวิษณ ยังกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิร์ต ว่ายังบอกไม่ได้ เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวมีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ส่วนที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) แถลงว่าจะมีการออกคำสั่งตาม มาตรา 44 เกี่ยวกับการประมูลคลื่นดังกล่าว ส่วนตัวไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวถือเป็นอำนาจของกสทช. ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล แต่เมื่อมีปัญหาจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 จึงจะเกี่ยวข้องกับคสช. และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร( ไอซีที) ในฐานะตัวแทนรัฐบาลเพียงหน่วยงานเดียวก็ต้องรับรู้ แต่หากกสทช.สามารถดำเนินการได้ด้วยวิธีปกติก็ถือเป็นอำนาจ กสทช. เต็มที่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ กสทช. อยู่ระหว่างการบริหารเวลาว่าจะทำอย่างไรให้การประมูลรวดเร็วขึ้น ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับบอร์ดกสทช. กระทรวงไอซีที และนายฐากร มีหน้าที่สรุปและรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาออกคำสั่ง แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนดังกล่าว เพียงแต่รายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น
ผู้สื่อข่าว:วิรวินท์ ศรีโหมด