ในวันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการออกเสียงประชามติ การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ...
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการรณรงค์โครงการ “เล่นน้ำประหยัด ปลอดภัยใส่ใจผู้บริโภค” ที่บริเวณถนนข้าวสาร เขตพระนคร
ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ประจำปี 2559
เช้าวันนี้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เปิดบ้านให้ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และผู้บัญชาการเหล่าทัพ อวยพรปีใหม่ ในเทศกาลสงกรานต์ ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์
ส่วนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ แต่มีการแสดงความเห็นคัดค้านคำถามพ่วง ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ยอมถามว่า การแสดงความเห็นคัดค้านรัฐธรรมนูญ และกฎหมายนั้นทำเพื่ออะไร ใครได้ประโยชน์ และเชื่อว่าหากมองย้อนกลับไป จะเห็นปัญหาว่าประเทศบอบช้ำมาก และหากเลือกตั้งแล้วคนที่เคยมีปัญหา มีคดีได้เลือกเข้ามาจะไม่ห่วงประเทศไทยใช่ไหม
ด้านนายวิษณุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรณีของคำถามพ่วงอยู่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งหากสนช.ยืนยันว่าจะยังคงคำถามพ่วงนี้ไว้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องดำเนินการจัดให้มีการลงประชามติ
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ในการหารือกับนายวิษณุ ในวันนี้ จะมีประเด็นเกี่ยวกับงบประมาณที่ใช้ในการออกเสียงประชามติ ต่อมาคือเมื่อพระราชบัญญัติมีผลบังคับใช้แล้ว จะมีกิจกรรมใดทำได้หรือไม่ได้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน สุดท้ายคือบัตรออกเสียงประชามติ
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่าในวันนี้ กรธ. จะตรวจสอบความสมบูรณ์ของร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง และจะส่งให้ กกต.ในวันพรุ่งนี้ ส่วนการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญ จะมีการหารือในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ คาดว่าจะลงพื้นที่ชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญได้ในช่วงต้นเดือนพฤาภาคม
เช่นเดียวกับ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่สอง ที่กล่าวว่า สนช.ยังไม่มีมติอย่างเป็นทางการว่าจะมีการชี้แจงคำถามพ่วงประชามติหรือไม่ และต้องรอประชุมวิปสนช. หลังสงกรานต์
โดยในวันที่ 20 เมษายนนี้ จะมีการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่ายระหว่าง สนช. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และรัฐบาล
ส่วนการตรวจสอบบุคคลที่ปรากฏชื่ออยู่ในรายงานลับของบริษัทมอสแซค ฟอนเซกา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้ง 4 ประเด็นหลักในการตรวจสอบนักการเมืองที่มีรายชื่ออยู่ในรายงาน ซึ่งพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. มอบให้นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ประสานข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ตามที่พบชื่อคนไทย 16 คน โดยประเด็นที่ป.ป.ช.จะตรวจสอบก็คือ เป็นนักการเมืองและมีหน้าที่ยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินหนี้สินต่อ ป.ป.ช.ตามกฎหมายของ ป.ป.ช.หรือไม่ , มีการฝากเงินจริงตามที่เป็นข่าวหรือไม่ , มีการยื่นเรื่องเงินฝากในธนาคารในต่างประเทศหรือไม่ และ มีการยื่นเป็นเงินลงทุนในลักษณะอย่างไร
*-*