*สนช.ผ่านร่างพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ยืนยันบทลงโทษคนที่ก่อความวุ่นวาย*

07 เมษายน 2559, 18:12น.


หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใช้เวลาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นานกว่า 6 ชั่วโมง ที่ประชุม มีมติเห็นชอบวาระ 2 และวาระ 3 ด้วยคะแนนเห็นชอบ 171 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ที่ประชุมได้เปลี่ยนสาระสำคัญในมาตรา 7 จากเดิม บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและรณรงค์ เกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย เป็น การแสดงความเห็นและเผยแพร่ เพื่อป้องกันเคลื่อนไหวรณรงค์ชักชวนให้ออกเสียงไปทางใดทางหนึ่ง จนเกิดความขัดแย้ง นอกจากนี้ ยังมีการแก้ไขข้อความใน มาตรา 9 วรรคสอง จากเดิมให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) อาจสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชน สามารถดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ โดยให้ตัดคำว่า “จัดกิจกรรม” ออกไป โดยให้เหตุผลที่อาจนำไปสู่การจัดกิจกรรมรณรงค์ให้ออกเสียงไปทางใดทางหนึ่ง



ส่วนในมาตรา 9/1 ที่ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ( กรธ.) ดำเนินการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบัญญัติและสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน จากคำว่า “ อย่างทั่วถึง” เปลี่ยนเป็น “การทั่วไป”



ส่วนเรื่องการคัดค้านการออกเสียง ในมาตรา 51 ที่มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง จากเดิมกำหนดให้ผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจำนวนไม่น้อยกว่า 10  คน ยื่นหลักฐานคัดค้านการออกเสียงได้หากเห็นว่าการออกเสียงในหน่วยนั้นเป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งสมาชิกกังวลว่าจะเกิดการก่อกวนคัดค้าน ทำให้ไม่สามารถประกาศผลได้ทั่วประเทศได้ กรรมาธิการจึงปรับแก้ให้เป็น 50 คน เพื่อให้อิงกับสัดส่วนจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในแต่ละหน่วยที่มีประมาณ 500-600 คนจาก 800 คนซึ่งจากนี้จะส่งร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป



ขณะที่ บทลงโทษผู้กระทำความผิดตามมาตรา 62 ที่ถือว่าผู้นั้นก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ยังคงไว้ตามเดิม คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดไม่เกิน 5 ปีด้วยก็ได้ หรือถ้าเป็นกรณีการกระทำผิดของคณะบุคคลตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี



ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี 

ข่าวทั้งหมด

X