ความพยายามที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมัน นางนาวาล อัล-ฟูซาเอีย ผู้ว่าการกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ประจำคูเวต กล่าวว่า สัญญาณทุกอย่างล้วนบ่งชี้ว่าการประชุมระหว่างสมาชิกโอเปก และประเทศนอกกลุ่มโอเปกที่กรุงโดฮาในวันที่ 17 เม.ย.นั้น ที่ประชุมจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการคงกำลังการผลิต โดยบอกว่า ที่ประชุมอาจตกลงที่จะคงกำลังการผลิตที่ระดับของเดือนก.พ. หรือที่ค่าเฉลี่ยของเดือนม.ค. และก.พ.
ส่วนการที่อิหร่านยืนยันจะเพิ่มกำลังการผลิตต่อไป นางฟูซาเอียระบุว่าการเพิ่มการผลิตน้ำมันของอิหร่านไม่ใช่ตัวสร้างปัญหา แต่ประเด็นอยู่ที่ความสามารถของอิหร่านในการขายน้ำมันในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางตลาดที่อยู่ในภาวะอิ่มตัว และอุปสงค์อยู่ในระดับต่ำ ทำให้คาดหวังว่าตลาดน้ำมันจะแตะจุดสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 45-60 ดอลลาร์/บาร์เรลในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ จนกว่าจะถึงปี 2018 จากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ระดับ 37.42 ดอลลาร์
ด้านสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ยังคงปรับตัวลงในวันนี้ต่อเนื่องจากวานนี้ โดยแตะระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน จากการที่นักลงทุนไม่มั่นใจต่อผลการประชุมของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในเดือนนี้ ขณะที่รัสเซียมีการผลิตน้ำมันสูงสุดในรอบ 30 ปีในเดือนมี.ค. และอุปสงค์น้ำมันเบนซินในสหรัฐได้ร่วงลงในเดือนม.ค. เป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ก็เป็นปัจจัยกดดันตลาดเช่นกัน
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือนพ.ค. ซึ่งมีการซื้อขายทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ตลาด NYMEX ลดลง 9 เซนต์ สู่ระดับ 35.61 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากดิ่งแตะระดับ 35.49 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 เดือน