*ประธาน กรธ. หนุนเยาวชนคิดเห็นทางการเมือง แต่ต้องรับฟังความเห็นต่าง*

05 เมษายน 2559, 12:44น.


ในการปาฐกถาเรื่องกรอบแนวคิดในการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้เป็นมีกรอบในการร่างที่ทำให้ผู้ร่างไม่สามารถทำตามใจได้ โดยกรอบแรกคือกรอบที่บัญญัติไว้ใน ม.35 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 และกรอบจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่าทุกภาคส่วนมีความตื่นตัวเป็นอย่างมาก 



ทั้งนี้ในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเรื่องวินัยการเงิน ซึ่งไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แปรญัติงบประมาน เพื่อให้ใช้งบประมานถูกต้องตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ซี่งหากพบการทุจริต คณะรัฐมนตรีที่อนุมัติ ต้องพ้นจากตำแหน่งไปทั้งคณะและไม่สามารถกลับมาได้อีก อีกทั้งมีการกำหนดลักษณะต้องห้ามคนที่เข้ามาสู่การเมือง หากพบว่ามีการกระทำความผิด หรือมีคำพิพากษาเช่นเรื่องทุจริตต่อหน้าที่ก็ไม่สามารถเข้ามาได้ อีกทั้งกลไกที่ให้นักการเมืองไม่ตกอยู่ได้ความครอบงำของใคร  กลไกป้องกันประชานิยมที่จะทำให้รัฐเกิดความเสียหาย ป้องกันการทำลายหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ โดยบัญญัติว่าเสียงข้างมากที่ใช้ในการแก้ไขนั้น ต้องมีเสียงฝ่ายค้านร้อยละ 20 และวุฒิสภาร้อยละ 30 รวมอยู่ด้วย 


 




 


ทั้งนี้ขณะที่ นายมีชัยกำลังกล่าวปาฐกฐา มีนักเรียนนักศึกษา จากกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทย ยืนชูป้ายเรียกร้องให้คืนสิทธิการเรียนชั้นมัธยมปลายฟรี  และกลุ่มประชาธิปไตยศึกษานำโดยนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ ที่ใส่หน้ากาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ชูป้ายไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายมีชัยได้กล่าวว่า เหตุการณ์นี้เป็นการยืนยัน ว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูการศึกษา ทั้งในเรื่องความอดกลั้น และการมีวินัย พร้อมย้ำด้วยว่าต้องมีการปฏิรูปการศึกษา และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อย่างเร่งด่วน


 


หลังจากนั้น นายมีชัย ให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่า ความพยายามขัดขวางการการกล่าวปาฐกถา ไม่ได้ทำให้เสียกำลังใจ เพราะเป็นเรื่องธรรมดาของการแสดงความคิดเห็นภายในมหาวิทยาลัยเสรี และไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย เพราะเห็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด  ซึ่งหากเป็นการแสดงคิดเห็นโดยสุจริตใจก็เป็นสิทธิ์ของเขา แต่หากทำเพราะถูกใครเขาวานมาก็เป็นเรื่องน่าเสียดาย ซึ่งนายมีชัยกล่าวว่า การแสดงสิทธิ์เสรีภาพต้องคำนึงถึงสิทธิ์ของคนอื่น และจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้คนมีวินัยและมีความอดทนรับฟังความเห็นต่าง พร้อมระบุอีกว่า ซึ่งกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหว ไม่ได้ส่งหนังสือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ มายัง กรธ.และคาดว่าหลังจากนี้ไปจนถึงวันลงประชามติ จะมีการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้เป็นระยะ เพราะพบการระดมกำลังจากพรรคการเมืองบางแห่งพอสมควร จึงต้องอดทนเพราะกรธ.มีหน้าที่ต้องชี้แจง 


 


ส่วนการจัดเวทีเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในครั้งต่อไป ยังเปิดโอกาสให้คนที่เห็นต่างแสดงความคิดเห็น แต่ต้องไม่ทำให้เยาวชนเสียหาย และต้องมีความหนักแน่นรับฟังความเห็นต่างของคนอื่นเช่นกัน 


 


ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าการมีคำถามพ่วงประชามติจะทำให้ประชาชนสับสน นายมีชัยกล่าวว่าขึ้นอยู่กับว่าคำถามพ่วงเกี่ยวข้องหรือขัดแย้งกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมขออย่ากังวลกรณีที่ สนช.และสปท. สนับสนุนให้สว. มีบทบาทสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านเพราะยังไม่ทราบว่าจะมีคำถามหรือไม่ และผู้ตั้งคำถามพ่วงก็ต้องชี้แจงกับประชาชนเช่นกัน


..


 


ผสข.ปิยะธิดา เพชรดี
ข่าวทั้งหมด

X