สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่าง 1,229 คน ถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดหลักสูตรปรับทัศนคติ นักการเมือง สื่อมวลชน และผู้ที่มีความคิดเห็นขัดแย้ง พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.11 ระบุเป็นข่าวดังที่หลายคนจับตามองและพูดถึง อยากทราบรายละเอียดของหลักสูตร
ร้อยละ 64.93 ระบุมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ไม่รู้ว่าจะได้ผลมากน้อยเพียงใด คงต้องรอดูต่อไป
และร้อยละ 58.04 ระบุส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับกลุ่มการเมือง ยิ่งใกล้จะลงประชามติจึงออกมาวิพากษ์วิจารณ์กัน
เมื่อถามถึงผลดีของการเปิดหลักสูตร ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.72 ระบุเพื่อปรับความเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงานของ คสช.
รองลงมาร้อยละ 68.35 ลดความขัดแย้งในบ้านเมือง เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
และร้อยละ 58.82 เป็นการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจอย่างหนึ่ง เพื่อให้เกิดการยอมรับมากขึ้น
ส่วนผลเสียนั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.14 ระบุผู้ที่ไม่เห็นด้วยออกมาต่อต้าน ยุยง โจมตี คสช.ให้เกิดปัญหา
ขณะที่ร้อยละ 72.66 ระบุส่งผลต่อภาพลักษณ์ของนายกฯและคสช. เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ปิดกั้นความคิดเห็น
และร้อยละ 60.90 มองว่าเสียเวลา สิ้นเปลืองงบประมาณ
อย่างไรก็ตามเมื่อถามว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ กับการที่ทหารเชิญผู้ที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกับ คสช. ไปปรับทัศนคติ ส่วนใหญ่ร้อยละ 59.02 ระบุเห็นด้วย เพราะการออกมาเคลื่อนไหว หรือแสดงความเห็นส่วนตัวมากเกินไป อาจทำให้สังคมเกิดความสับสน เข้าใจผิดได้ เป็นการแก้ปัญหาของ คสช.เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ขณะที่ 23.77 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะ ยิ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียด เกิดความขัดแย้งมากขึ้น การปรับทัศนคติไม่น่าจะได้ผล หรือเปลี่ยนความคิดของคนๆ นั้นได้ เมื่อกลับออกไปก็อาจมีพฤติกรรมเช่นเดิมอีก คสช.ควรรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างบ้าง
สำหรับระยะเวลาของหลักสูตร จำนวน 3 วัน หรือ 7 วันนั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.93 ระบุเห็นด้วย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ คสช. คิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาและสร้างความเข้าใจให้ดีขึ้น ระยะเวลาเหมาะสมไม่มากไม่น้อยเกินไป
ร้อยละ 26.27 ไม่เห็นด้วย มองว่าเสียเวลา เปล่าประโยชน์ สิ้นเปลืองงบประมาณ ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ใช้บทลงโทษตามกฎหมายจะดีกว่า อยากให้ คสช. เร่งแก้ปัญหาปากท้องและเรื่องอื่นๆ ที่เร่งด่วน
...