การจัดพิธีบรรพชาและอบรมสามเณร (ภาคฤดูร้อน) เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการ ป.ป.ส. เปิดเผยว่า ป.ป.ส. ได้มีการจัดโครงการนี้มา 5 ปี มีสามเณรที่ได้รับการบวชแล้วกว่า 3,000 คน โดยในปีนี้ก็ได้รับความสนใจจากผู้ปกครองในเขตกรุงเทพมหานคร(กทม.)เป็นจำนวนมาก มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการถึง 800 คน ในวัด 7 แห่ง ได้แก่ วัดภาวนาภิรตาราม, วัดสะพาน, วัดปากบ่อ, วัดศิริพงษ์ธรรมนิมิต, วัดนิมมานรดี, วัดมณฑป, วัดเวฬุวนาราม โดยเด็กและเยาวชนที่เข้ารับการบวชและอบรม จะเป็นเด็กที่มีระเบียบวินัย มีความสุภาพเรียบร้อย โครงการดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กและเยาวชน ชั้นป. 4 - ป. 6 ที่เป็นกลุ่มก่อนวัยเสี่ยงจากแผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้าน ชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2559 - 2560 ซึ่งมีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยภาคีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร สถาบันครอบครัว วัด และโรงเรียน ซึ่งเด็กในวัยนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อ อาจตกเป็นเหยื่อหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับวงจรยาเสพติด และนำไปสู่ปัญหายาเสพติดตามมา เพราะขาดทักษะการปฏิเสธ ถ้าไม่ได้รับภูมิคุ้มกันที่ถูกต้องและต่อเนื่อง อาจถูกชักจูงเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดโดยง่าย
เลขา ป.ป.ส. กล่าวว่าการนำหลักศาสนาเข้ามาขัดเกลาจิตใจ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชน เพื่อให้มีสติ ปัญญา สามารถไตร่ตรอง แยกแยะสิ่งถูกผิด รวมทั้งปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ในช่วงปิดภาคเรียน ป.ป.ส. ได้ติดตามเยาวชนที่ผ่านโครงการนี้ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีเยาวชนคนใดเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องของยาเสพติด
เลขาธิการป.ป.ส. ยังได้ขอความความร่วมมือจากพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ให้ช่วยดูแลบุตรหลาน ให้ห่างไกลจากยาเสพติด เพราะครอบครัวถือเป็นจุดสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตลอดเวลา ประเทศไทยต้องเสียงบประมาณในการแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นจำนวนมาก หากป้องกันปัญหาตั้งแต่เริ่มแรกได้ จะช่วยลดงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก
สำหรับผู้ปกครองที่สนใจจะส่งบุตรหลานมาร่วมบรรพชาในโครงการของป.ป.ส. ครั้งต่อไป สามารถติดต่อมาได้ที่วัดทั้ง 7 แห่งข้างต้น หรือสามารถต่อสายตรงมาที่หมายเลข 1386 ของป.ป.ส.
ผู้สื่อข่าว:สมจิตร์ พูลสุข
CR:ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ป.ป.ส.