การรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. กล่าวว่า หลังจาก กรธ.ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อนำส่งต่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ไปดำเนินการจัดทำประชามติ ขั้นตอนจากนี้ไปกรธ.ต้องดำเนินการจัดทำคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ และส่งให้ กกต.ภายใน 15 วัน นับจากวันที่แจ้ง ครม.ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 13 เม.ย. เบื้องต้นกรธ.วางกรอบของการจัดทำคำอธิบายไว้ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแต่ละประเด็นแบบย่อ ๆ ส่วนที่สองคือการสรุปจุดเด่นในร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมอินโฟกราฟฟิกและภาพประกอบอธิบายเพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่าย นอกจากกรธ.จะเร่งจัดทำคำอธิบายของร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องส่งให้ กกต.ตามกรอบระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว)พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2559 แล้ว กรธ.ก็จะมีการพิจารณาด้วยว่ามีสิ่งใดที่ กรธ.ต้องทำความเข้าใจและสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องด้วย
นายนรชิต สิงหเสนี โฆษกกรธ.กล่าวว่า ตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญมา กรธ.รับฟังทุกฝ่ายมาตลอด แต่การกำหนดข้อห้าม หรือขั้นตอนวิธีการรณรงค์ไม่เกี่ยวกับกรธ. ขึ้นอยู่กับสนช. รัฐบาล พิจารณาความเหมาะสมจะกำหนดแบบใด มั่นใจว่าเขียนรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ อำนาจของประชาชน เรื่องเลือกผู้แทน ประชาชนคงไม่มีปัญหา คงพร้อมมีส่วนร่วม จากการลงพื้นที่ชี้แจงแต่ละครั้งก็ได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ส่วนการพิจารณาตั้งคำถามพ่วงไปกับการทำประชามติ เป็นหน้าที่ สนช.โดยกรธ.ไม่ขัดข้องว่าจะตั้งหรือไม่ แต่จุดที่สนใจคือประชาชนจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่มากกว่า