22จังหวัดประกาศภัยแล้ง/เอดีบีลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทย/ยธ.ติดตาม2คดีจราจร*

31 มีนาคม 2559, 08:25น.


จากปัญหาภัยแล้ง  นายสุรพล จารุพงศ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงปฏิบัติการฝนหลวงว่า ช่วงวันที่ 25-28 มีนาคมที่ผ่านมา มีการปฏิบัติการฝนหลวง 105 เที่ยวบิน ส่งผลให้เกิดฝนตกใน 24 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 7 จังหวัด ภาคกลาง 4 จังหวัด ภาคตะวันตก 6 จังหวัด ภาคตะวันออก 5 จังหวัด และภาคใต้ 2 จังหวัด รวมพื้นที่ที่ฝนตก 6 ล้าน 8 แสนไร่ มีปริมาณน้ำไหลลง 6 เขื่อน จำนวน 15 ล้าน 8 แสนลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ส่วนแผนปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ มีการปรับแผนการปฏิบัติการโดยจะเน้นพื้นที่ประสบภัยแล้งเป็นหลัก เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในอ่าง



กรมชลประทานรายงานว่าจากอิทธิพลของลมตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้น้ำทะเลหนุนสูงมากกว่าปริมาณที่คาดการณ์ไว้ 50 เซนติเมตร (ซม.) ทำให้ค่าความเค็มเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ขณะนี้ค่าความเค็มเริ่มลดลงแล้ว เนื่องจากกรมชลประทานเพิ่มการปล่อยน้ำจากเขื่อนพระราม 6 จึงไม่กระทบต่อการผลิตน้ำประปาแน่นอน



นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่ามี 22 จังหวัดที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวม 97 อำเภอ



นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโส ประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เปิดเผยว่า เอดีบีได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2559 จากเดิมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว และต้องรอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะทยอยออกมาในปีนี้ด้วยว่าจะสามารถผลักดันให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้มากกว่าร้อยละ 3 หรือไม่



ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ระบุว่า ในเดือนเมษายนนี้ สศค.จะปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยใหม่ จากปัจจุบันที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 3.2-4.2 แต่ยังยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 3



ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ระดับ 63.5 เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจจีนที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย



กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอออกหมายเรียกพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย มารับทราบข้อกล่าวหาในการกระทำความผิดฐานสมคบกันฟอกเงิน, ร่วมกันฟอกเงิน และร่วมกันรับของโจร เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้รับเช็คบริจาคจากนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำนวน 800 ล้านบาท โดยกำหนดให้มาพบพนักงานสอบสวนภายในวันที่ 8 เมษายนนี้



ซึ่งพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ได้รับรายงานจาก พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีพนักงานสอบสวนออกหมายเรียกพระธัมมชโยให้มารับทราบข้อกล่าวหา โดยกำชับให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนการชี้แจงความคืบหน้าในคดีขอให้เป็นดุลพินิจของอธิบดีดีเอสไอ



พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผบ.สำนักคดีการเงินการธนาคาร หัวหน้าชุดสอบสวนเส้นทางการเงินคดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิต ยูเนี่ยนคลองจั่น เปิดเผยว่า คดีนี้สมาชิกผู้เสียหายจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นร้องให้เอาผิดผู้รับเช็คปลายทาง และผลการตรวจสอบเส้นทางการเงิน นำไปสู่การออกหมายเรียกผู้ต้องหา 2 ราย คือ พระธัมมชโย ที่มีชื่อรับเช็คหลายฉบับ และเป็นการรับเงินจากสหกรณ์คลองจั่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากนั้นมีการถ่ายโอนไปยังเครือข่ายพระของวัดพระธรรมกายในหลายจังหวัด



ส่วนผู้ที่ถูกออกหมายเรียกอีก 1 ราย คือ น.ส.ศศิธร โชคประสิทธิ์ มีชื่อปรากฏสลักหลังเช็คกว่า 100 ล้านบาท ที่โอนให้เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในความผิดฐานช่วยปกปิดซ่อนเร้นอำพราง



สมาชิกสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นในฐานะผู้เสียหาย ระบุว่า ผู้เสียหายที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องที่กลุ่มผู้ต้องหานำเงินฝากของสมาชิกไปบริจาคให้วัด  จึงขอวิงวอนให้คืนเงินที่ได้รับบริจาคทั้งหมด เพราะเป็นเงินเก็บสะสมเพื่อยังชีพในช่วงบั้นปลายของชีวิต



ด้าน พระสนิทวงศ์ วุฑฺฒิวํโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร วัดพระธรรมกาย แถลงยืนยันในความบริสุทธิ์ของพระธัมมชโย และขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เพราะนายศุภชัยระบุว่ากู้ยืมมาจากสหกรณ์คลองจั่น และคืนแล้ว จากนั้นวัดก็นำเงินบริจาคไปใช้ก่อสร้างศาสนสถานตามเจตนาของผู้บริจาค



ส่วนคดีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรที่ถูกวิจารณ์กันมากว่า มีการเลือกปฏิบัติ ในคดีของนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือบอส อายุ 31 ปี ผู้ต้องหาคดีขับรถชนตำรวจจนเสียชีวิตเมื่อปี 2555 แต่คดีนี้ถูกวิจารณ์ว่ามีการประวิงเวลาจนการดำเนินคดีข้อหาขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนดขาดอายุความ และคดีของนายเจนภพ วีรพร ผู้ต้องหาคดีขับรถชนรถผู้อื่น เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2559พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้ตรวจสอบ แต่คดีของนายวรยุทธนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่นอกกระทรวงยุติธรรม แต่ยังสามารถใช้อำนาจของ คสช. ขอข้อมูลว่าอะไรเป็นปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้คดีล่าช้า หรือคดีขาดอายุความ



ด้านนายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวว่า มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงการดำเนินคดีนายวรยุทธ แล้ว แต่ในส่วนของอัยการที่สั่งฟ้องคดีไม่ทันนั้น ป.ป.ท.ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้เพราะอัยการเป็นองค์กรอิสระ แต่จากข้อเท็จจริงตามที่อัยการชี้แจง ระบุว่ามีความเห็นสั่งฟ้องคดีแล้ว แต่ไม่สามารถนำตัวผู้ต้องหามายื่นฟ้องต่อศาลได้



พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รรท.ผบช.น.) ยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย และยืนยันว่ากฎหมายมีไว้ใช้เพื่อคุ้มครองคนดี คนดีในที่นี้คือคนที่ไม่ทำผิดกฎหมาย ยึดหลักการความถูกต้องมาก่อนถูกใจ ไม่มีเจตนาที่จะเอาผิดอะไรกับใคร แต่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ให้พี่น้องประชาชนมั่นใจในการทำงานของตำรวจไทย โดยนายวรยุทธถูกสั่งฟ้อง 2 ข้อหาจาก 4 ข้อหาคือขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และไม่หยุดรถช่วยเหลือผู้ถูกชน อีก 2 ข้อหาที่พนักงานสอบสวนสั่งไม่ฟ้องคือขับรถเร็วและเมาแล้วขับ เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ



ส่วนคดีนายเจนภพ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนะเจริญ รองโฆษก ตร. เปิดเผยว่า กำลังมีการพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม เกี่ยวกับขับรถด้วยความเร็ว คาดว่าสำนวนคดีจะแล้วเสร็จภายในวันนี้ เพื่อมีความเห็นสั่งฟ้องต่อพนักงานอัยการต่อไป



ส่วนการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกับ พ.ต.อ.พงศ์พัฒน์ สุขสวัสดิ์ ผกก. สภ.พระอินทร์ราชา และ พ.ต.ท.สมศักดิ์ พลพันขาง รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.พระอินทร์ราชา เนื่องจากทำคดีล่าช้า ว่า ทางคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงรายงานว่า นายตำรวจทั้งสองนายมีความผิดทางวินัย แต่ไม่ใช่วินัยร้ายแรง กรณีที่มีความบกพร่องไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนอย่างเคร่งครัด ซึ่งมีการลงทัณฑ์ของระเบียบราชการอยู่แล้ว ส่วนการโยกย้ายกลับมาในตำแหน่งเดิมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทาง พล.ต.ท.ชัยวัฒน์ เกตุวรชัย ผบช.ภ.1 จะมีคำสั่งอีกครั้งหนึ่ง



..

ข่าวทั้งหมด

X