*รองนายกฯ นัดกกต.หารือขอบเขตร่างพ.ร.บ.ประชามติ เตือนแสดงความเห็นเกินเลยอาจถูกปรับทัศนคติ*

30 มีนาคม 2559, 15:38น.


 ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า การรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ อาจมีความผิด ในร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยว่า ขณะนี้ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวยังไม่มีการประกาศใช้ เนื่องจากอยู่ในระหว่างการพิจารณา และไม่ถือว่าเป็นความผิดในร่างพ.ร.บ. แต่อาจจะผิดในกฎหมายฉบับอื่น และหากมีการวิพากษ์วิจารณ์มากเกินไป อาจถูกเรียกไปปรับทัศนคติได้ และเมื่อกกต. ออกมาเตือน นักการเมืองควรต้องระวังไว้ การแสดงความเห็นทัศนคติส่วนตัวที่เข้าข่ายดูหมิ่น ให้ร้าย ก็จะมีความผิด และในสัปดาห์หน้าจะนัดประชุมกับกกต.  ถึงการกำหนดขอบเขตของร่างพ.ร.บ. ประชามติ และจะพิจารณาร่วมกันว่าการกระทำใดจะเข้าข่ายผิดบ้าง นายวิษณุ กล่าวถึง เรื่องที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตัดระยะเวลาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้เหลือ 4 เดือน จาก 1 ปี ภายหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ว่า ไม่ใช่เป็นความขัดแย้งระหว่างกรธ. กับ สปท. ซึ่งกรธ. ก็ได้ชี้แจงในเรื่องดังกล่าวไปหมดแล้ว และไม่ได้มีเจตนาจะยุบ สปท. โดยการให้สปท. มีระยะเวลาการทำงานที่สั้นลง เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายปฏิรูปที่ออกมา ที่จะมีการตั้งองค์กรปฏิรูปใหม่ขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ เนื่องจากสมาชิก สปท. บางคน อาจจะลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยจะต้องลาออกจากตำแหน่งเดิมก่อน 90 วัน ดังนั้นอาจจะกระทบกับการทำงาน รวมทั้งจะได้ทราบว่าสมาชิปสปท. คนใด ยังมีเจตนาที่จะปฏิรูปบ้าง



ทั้งนี้ไม่อยากให้คิดว่า สปท. ไม่มีผลงานออกมาให้เห็นชัดเจน โดยการปฏิรูปจะต้องมีการสานงานต่อ โดยเฉพาะในเรื่องที่กำหนดไว้ในหมวดรัฐธรรมนูญ ได้แก่ การปฏิรูปองค์กรตำรวจ ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การศึกษา สาธารณสุข โดยรัฐบาลจะสานต่อในเรื่องดังกล่าว และสปท. จะเป็นผู้ช่วยคิด และรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนการเดินสายทำความเข้าใจเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า จะต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ กกต. ที่จะต้องใช้งบประมาณของกกต. ในการเปิดเวทีและเชิญพรรคการเมืองนักวิชาการทำความเข้าใจผ่านรายการโทรทัศน์ ส่วนกรธ.ทำหน้าที่ชี้แจงความหมายของร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้น โดยใช้งบประมาณของรัฐสภา และส่วนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับกกต. และกรธ. สามารถรณรงค์ออกมาใช้สิทธิได้ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นการล้ำเส้น



จากกระแสข่าวว่าจะมีการขยายเวลาเกษียณอายุราชการเป็น 65 ปี นายวิษณุ สั่งการให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) มาชี้แจงแล้ว เรื่องนี้ยังไม่มีการเริ่มต้น เป็นเพียงการศึกษาเท่านั้น ซึ่งทำมาแล้วหลายรัฐบาล ยืนยันว่าเรื่องนี้จะไม่มีการเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้อย่างแน่นอน โดยปัจจุบันระบบราชการ มีข้อบกพร่อง 4 ข้อ คือ การทุจริตคอร์รัปชั่น, การทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม ไม่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน, สองมาตรฐาน และสุดท้ายคือ การตัดสินใจไม่อยู่บนพื้นฐานในผลประโยชน์ของประชาชน จะต้องแก้โดยการยึดหลักธรรมาภิบาล 6 ข้อ คือ หลักนิติธรรม, ความโปร่งใส, ความรับผิดชอบ, มีส่วนร่วม, ความคุ้มทุน คุ้มค่าประหยัด, ความซื่อสัตย์สุจริต โดยข้าราชการจะต้องเป็นตัวอย่างก่อนภาคส่วนอื่น



ผู้สื่อข่าว:สมจิตร์ พูลสุข

ข่าวทั้งหมด

X