ปธ.กรธ.แจงร่างรัฐธรรมนูญในที่ประชุม3ฝ่าย ย้ำการปราบปรามทุจริต

30 มีนาคม 2559, 13:17น.


ในการชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ให้แก่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และหัวหน้าส่วนราชการ ที่รัฐสภาในวันนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่าในร่างรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติเกี่ยวกับหน้าที่รัฐ ซึ่งมีการเข้าใจผิดว่าจะเป็นการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่รัฐ จึงได้บัญญัติใหม่ว่า ประชาชนก็มีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ หากรัฐไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็สามารถฟ้องร้องได้ แต่การใช้สิทธิ์ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของคนอื่นเช่นกัน ส่วนการที่ไม่ได้บัญญัติให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติเพราะมองว่าอาจเกิดปัญหาได้ในอนาคต จึงบัญญัติให้ส่งเสริมการศึกษาเผยแผ่หลักธรรมของศาสนาพุทธ และรัฐต้องมีกลไกป้องกันการบ่อนทำลายพุทธศาสนา ทั้งประชาชนต้องมีส่วนร่วมปกป้องพุทธศาสนา



ด้านการเมืองเกี่ยวกับการได้มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งจะมี ส.ส. แบบแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อ ส่วนสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นการเลือกจากกลุ่มสาขาอาชีพ และเพิ่มบทเฉพาะกาลเพื่อดูแลการปฏิรูปในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี โดย ส.ว.แบบสรรหา มีอำนาจพิเศษเพื่อดูแลการปฏิรูป ร่วมกับส.ส. และพิทักษ์รัฐธรรมนูญรวมถึงกระบวนการยุติธรรม ส่วนกรณีที่สภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีตามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ ให้เข้าชื่อ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 250 คน เพื่อเปิดประชุม 2 สภา ขอคะแนน 2 ใน 3 เพื่อให้เลือกนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีได้ แต่อำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรียังคงอยู่ที่ ส.ส.



นอกจากนี้เรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มีกลไกป้องกันผู้ไม่สุจริตเข้าสู่วงการเมือง เมื่อเข้ามาแล้วกระทำการทุจริตต้องออกไปและไม่สามารถกลับเข้ามาใหม่ได้ตลอดชีวิต โดยกำหนดไว้ในคุณสมบัติต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อีกทั้งรัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายจากการทุจริตมีกฎหมายที่ให้ประชาชนแจ้งเบาะแสการทุจริต และมีกลไกที่ทำให้ประชาชนไม่เห็นด้วยกับการกระทำทุจริต



ส่วนองค์กรอิสระ วาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี เท่ากัน ส่วนเรื่องการปฏิรูปประเทศ หาก สปท.ต้องการปฏิรูปเรื่องอื่นก็ยินดี ต้องการให้ปฏิรูปโดยเร็ว ด้านการปฏิรูปการศึกษา ระบุว่ารัฐต้องจัดการศึกษา ให้ทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจนเข้าสู่สถานการศึกษา ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับ รวมเวลา 12 ปี ตามที่มีผลการศึกษาวิจัยจากทั่วโลก ระบุว่าการพัฒนาจิตใจและสมองต้องเริ่มตั้งแต่ 2 ขวบ



..

ข่าวทั้งหมด

X