การพัฒนาโครงการริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา นายพีรพงษ์ สายเชื้อ ปลัดกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นการฟื้นฟูและปรับปรุงภูมิทัศน์ พื้นที่สาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยจัดทำเป็นทางเดิน และทางปั่นจักรยานเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาบางส่วนวกเข้าพื้นดินริมฝั่งพร้อมมอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เป็นที่ปรึกษาด้านการสำรวจออกแบบและจัดทำแผนแม่บท เพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 57 กิโลเมตร ในพื้นที่นำร่องสองฝั่งรวม 14 กิโลเมตรจากสะพานพระราม7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ตามแนวคิด เจ้าพระยาเพื่อทุกคน เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยา เปรียบเหมือนเส้นเลือดใหญ่ที่อยู่คู่กับกรุงเทพมหานครมานานกว่า 234 ปี ประกอบกับปัญหาริมแม่น้ำเจ้าพระยามีหลายด้าน ทำให้พื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำขาดความต่อเนื่อง และมีการรุกล้ำทำให้คุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยริมแม่น้ำลดลง โครงการนี้จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาภูมิทัศน์ พื้นที่ริมน้ำ โดย กทม.มั่นใจว่าผลการศึกษาของที่ปรึกษาทั้งสองสถาบันจะทำให้โครงการดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์และเป็นแลนด์มาร์คที่สำคัญของประเทศต่อไป
ศ.ดร.สุชัชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า กรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่เกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากประชากรที่เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นเมืองแออัดและเกิดวิกฤติหลายด้าน มีสัดส่วนพื้นที่สาธารณะต่อประชากร1คนตามมาตรฐานสากลต่ำกว่ามาตรฐานโลก อีกทั้งพื้นที่ริมน้ำเป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับกิจกรรมนันทนาการ การพักผ่อน ท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี โดยโครงการนี้จะให้ประโยชน์คือ สามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของประชาชนกับแม่น้ำเจ้าพระยาและเป็นทางเลือกในการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น โดยใช้กรอบระยะเวลา 7 เดือนในการศึกษาจัดทำแผนแม่บท และรับฟังความคิดเห็นของชุมชนทั้ง4เขตที่อยู่ในพื้นที่นำร่อง คือเขตพระนคร บางซื่อ บางพลัด และดุสิต คาดว่า จะเริ่มดำเนินโครงการได้ภายในปี 2560
ผู้สื่อข่าว:พนิตา สืบสมุทร