*อ.มีชัย แจงอย่ากังวลที่มานายกฯคนนอก –บทบาทสว.ช่วงเปลี่ยนผ่านไม่มีผลการลงประชามติ*

29 มีนาคม 2559, 16:34น.


การตอบข้อซักถามหลังจากมีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ขออย่ากังวลและคาดเดาล่วงหน้าที่มาของนายกรัฐมนตรี คนนอก กรธ.ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรี ทั้ง 3 รายชื่อ ตามที่พรรคการเมืองเสนอมา ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ขอมติที่ประชุมใช้เสียง 2 ใน3 จากที่ประชุมเพื่อร่วมประชุมสองสภาขอยกเลิกข้อบังคับโดยให้สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีที่อยู่นอกบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอรายชื่อได้ หลังจากนั้นก็ส่งกลับไปให้ ส.ส.เป็นผู้ผู้ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีเช่นเดิม



ส่วนกรณีที่ กรธ. ให้มี ส.ว.จากการสรรหา ตามข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สาย นายมีชัย กล่าวว่า ได้บัญญัติให้ ส.ว. มาจากการสรรหา 200 คน ส่วนอีก 50 คนขอลองวิธีเลือกใหม่ เนื่องจากต้องการให้มี ส.ว.รับช่วงในการปฏิรูป  ส.ว.โดยตำแหน่งที่มาจาก ผู้นำเหล่าทัพ และปลัดกระทรวงกลาโหม จะทำให้ผู้ที่ไม่ชื่นชอบรัฐประหาร ลงคะแนนไม่ผ่านประขามติหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า เสียง 6 ใน 250 เสียง ไม่มีน้ำหนักเท่าไหร่ แต่มาดูแลในเรื่องความมั่นคง ซึ่งหากมีปัญหาด้านความมั่นคงก็สามารถชี้แจงได้ จะได้ไม่ต้องเกิดการรัฐประหาร



นายมีชัย ชี้แจงเรื่องการทำประชามติเชื่อว่าหากอธิบายให้เข้าใจอย่างทั่วถึง ก็ไม่มีเหตุอะไรที่ขัดข้องสำหรับขอบเขตอำนาจที่ให้ ส.ว. ดูแลกฎหมายที่กระทบกระบวนการยุติธรรม  ขอให้วางใจคนที่มาทำหน้าที่ส.ว. พอสมควรเพราะไม่ได้ยึดโยงพรรคการเมือง  ซึ่งคนที่มาจากการเลือกตั้งก็ไว้ใจได้เพียงแต่หากกระทำเพื่อมุ่งหวังอะไรบางอย่างก็อาจจะผิดเพี้ยนไปได้



เมื่อถามว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญหาก ส.ส. ต้องการแก้ไข แต่หาก ส.ว. ไม่เห็นด้วยจะทำได้หรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุดจึงควรได้รับความเห็นชอบร่วมกัน และเชื่อว่าหากการแก้ไขเป็นเรื่องที่เป็นเหตุเป็นผล ส.ว.ก็จะเห็นด้วย นายมีชัย ยังตอบคำถามถึงภาพบทเฉพาะกาล ที่ถูกมองสืบทอดอำนาจ มีผลประชามติ  หรือไม่ นายมีชัยกล่าวว่าหากอธิบายให้ประชาชนเข้าใจอย่างทั่วถึงจะได้รับการตอบรับ และหากทำความเข้าใจที่ถูกต้องจะลดความกังวลลง การเห็นต่างในแนวทางที่ถูกต้อง สามารถทำได้ แต่ไม่ใช่เห็นต่างด้วยการบิดเบือน



นายมีชัย กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญไม่มีแผนการปฏิรูปด้านกองทัพ เพราะร่างรัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งกองทัพเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง แต่การปฏิรูปตำรวจเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมโดยตรง อย่างไรก็ตามช่วงที่สภาผู้แทนราษฏรยังไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แม้ คสช. จะมีอำนาจอยู่จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่เข้ามา แต่นายมีชัย คิดว่าจะไม่มีการใช้มาตรา 44 ล้มการเลือกตั้งอย่างแน่นอน และส่วนตัวคิดว่าแม้จะมีผลการเลือกตั้ง แต่ คสช.ยังมีอำนาจอยู่ พรรคการเมืองก็จะมีความอิสระในการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรี



ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี



 



 

ข่าวทั้งหมด

X