นายซาลาห์ อับเดสลาม ผู้ต้องสงสัยคดีก่อวินาศกรรมกรุงปารีส กลับคำร้องขอให้เบลเยี่ยมส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีในฝรั่งเศส พร้อมยืนยันไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับการโจมตีในกรุงบรัสเซลส์ โดยเหตุการณ์วินาศกรรมกรุงปารีสเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิต 130 คน ส่วนเหตุวินาศกรรมกรุงบรัสเซล เมื่อวันที่ 22 มีนาคมนี้ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 31 ศพ โดยในวันที่ 31 มีนาคมนี้ นายอับเดสลามจะขึ้นให้ปากคำต่อศาล เพื่อตอบโต้หมายจับยุโรป หลังจากนั้น จะมีเวลาต่อสู้คดีอีก 14 วัน แต่ก็จะไม่มีการยื่นอุทธรณ์ใดๆ
อัยการเบลเยียมตั้งข้อกล่าวหาผู้ต้องสงสัยเพิ่มเติมอีก 2 ราย ที่มีความเชื่อมโยงกับแผนโจมตีกรุงปารีส โดยผู้ต้องสงสัยคนแรกที่ถูกตั้งข้อหาเพิ่มเติม มีชื่อย่อว่านายอับเดราเมน เอ. เขาถูกยิงระหว่างปฏิบัติการตรวจค้นจับกุมที่เขตสการ์บีกของกรุงบรัสเซลส์เมื่อวันศุกร์ ส่วนผู้ต้องสงสัยอีกรายคือนายไฟซาล ซี หรือนายไฟซาล เชฟฟู ซึ่งคาดว่าเป็นมือระเบิดรายที่ 3 ที่สนามบิน สำหรับผู้ต้องสงสัยที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาไปก่อนหน้านี้คือนายราบาห์ เอ็น. ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับแผนก่อการร้ายที่กรุงปารีสเช่นกัน
ศูนย์รับมือวิกฤติของเบลเยียม ปรับลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดสนามบินซาเวนเทมและรถไฟใต้ดินในกรุงบรัสเซลส์เมื่อวันอังคารที่ 22 มีนาคมนี้ มาอยู่ที่ 28 ศพ ไม่รวมมือระเบิดฆ่าตัวตาย 3 คน โดยในกลุ่ม 28 ศพนั้นสามารถระบุเอกลักษณ์บุคคลได้แล้ว 24 ศพ เป็นชาวเบลเยียม 13 คน ชาวต่างชาติ 11 คน ส่วนผู้บาดเจ็บ 340 คนนั้นมาจาก 19 ประเทศ ยังรักษาตัวในโรงพยาบาล 101 คน ในจำนวนนี้ 62 คนยังอยู่แผนกผู้ป่วยหนัก
ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหน่วยสืบสวนคดีพิเศษอิตาลี (ดีไอจีโอเอส) จับกุมนายจามาล เอดดีน วาลี ชาวแอลจีเรีย อายุ 40 ปี ฐานต้องสงสัยปลอมแปลงเอกสารให้นักรบกลุ่มหัวรุนแรงทั้งในกรุงปารีส และกรุงบรัสเซลส์ และจะมีการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปเบลเยียมในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ที่ประเทศอิรัก กลุ่มรัฐอิสลาม หรือ ไอเอส ก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายระหว่างที่มีการแข่งขันฟุตบอลทำให้มีผู้เสียชีวิต 32 ศพ ซึ่งนายจิอันนี อินฟานติโน ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟา) แสดงความเสียใจที่เกิดเหตุรุนแรงขึ้น เพราะฟุตบอลทำให้เกิดความสามัคคี
ด้าน ชีกห์ ซัลแมน บิน เอลบราฮิม อัล คาลิฟา ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) ชาวบาห์เรน แสดงความเสียใจต่อผู้เสียหาย และครอบครัว โดยฟุตบอลมีประวัติศาสตร์มายาวนานในการนำผู้คนเข้าหากันในช่วงที่มีความขัดแย้ง
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอลประกาศพร้อมร่วมมือกับยุโรปต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย เรียกร้องให้ประณามภัยก่อการร้ายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะในปารีส บรัสเซลส์ ซานเบอร์นาดิโน่ หรือในกรุงเทลอาวีฟ ซึ่งเขากล่าวว่าหากมีความร่วมมือกันก็จะสามารถเอาชนะกลุ่มก่อการร้ายได้เร็วขึ้น
ทางการไนจีเรียส่งเจ้าหน้าที่ไปกรุงยาอุนเดของแคเมอรูนในวันนี้ เพื่อพิสูจน์ว่าเด็กหญิง 2 คนที่ถูกจับกุมพร้อมเข็มขัดระเบิดหนัก 12 กก.ที่แคเมอรูนนั้น คือนักเรียนหญิงจากเมืองชิบอกตามที่เธอกล่าวอ้างจริงหรือไม่ โดยเมื่อ 2 ปีก่อนกลุ่มโบโก ฮาราม ลักพาตัวเด็กนักเรียนหญิง 276 คนจากเมืองชิบอก โดยผู้ที่อายุน้อยที่สุดของกลุ่มนี้คือ 16 ปี แต่เด็กหญิง 2 คนนี้ แคเมอรูนแจ้งว่ามีอายุราว 10 ขวบ
ส่วนการเมืองเมียนมา ซึ่งรัฐสภาให้ความเห็นชอบรายชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ 18 ตำแหน่งแล้ว ปรากฎว่านางอองซานซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ เอ็นแอลดี ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นรัฐมนตรี 4 กระทรวงได้แก่กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน และรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดีถิ่น จ่อ จะเข้าบริหารประเทศช่วงต้นเดือนเมษายนนี้
พลเอกมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมากล่าวสุนทรพจน์ในพิธีสวนสนาม เนื่องในวันกองทัพเมียนมาโดยระบุว่า กองทัพจะให้ความร่วมมือในทุกด้านเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศและประชาชน และกล่าวถึงอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย คือการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับต่างๆ และการที่ยังมีกองกำลังของชนกลุ่มน้อย ซึ่งหากมีการแก้ไขอย่างเหมาะสม หนทางสู่ประชาธิปไตยก็จะมีความก้าวหน้า
ทั้งนี้กองทัพเมียนมา ยังมีบทบาทางการเมืองเนื่องจากที่นั่ง 1 ใน 4 ของรัฐสภาเป็นของทหารที่ได้รับการแต่งตั้ง นอกจากนี้ยังเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงกิจการภายใน, ความมั่นคงและชายแดน และกลาโหม
หลังจากที่รัฐบาลนิวซีแลนด์เสนอให้มีการถอดตราสัญลักษณ์ยูเนียนแจ็คของอังกฤษออกจากธงประจำชาติ แต่ผลการลงประชามติพบว่า ชาวนิวซีแลนด์มากกว่าครึ่งหนึ่งออกเสียงให้ใช้ธงชาติแบบเดิม ทั้งนี้เมื่อปลายปีที่แล้วรัฐบาลนิวซีแลนด์เสนอรูปแบบของธงชาติแบบใหม่ 4 แบบ และผลการการคัดเลือกรอบสุดท้าย ประชาชนส่วนใหญ่เลือกธงที่มีสัญลักษณ์ใบเฟิร์นสีเงิน แต่ผลการลงมติในรอบสุดท้ายกลับพบว่า ประชาชนมากถึงร้อยละ 56.6 สนับสนุนให้ใช้ธงชาติแบบเดิมที่ใช้มานานนับร้อยปีแล้ว ทั้งยังมีการวิจารณ์นายกรัฐมนตรีจอห์น คีย์แห่งนิวซีแลนด์ที่คิดโครงการนี้ขึ้นมา ว่าทำให้เกิดความแตกแยกในประเทศ
*-*