การเดินทางลงพื้นที่ติดตามโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก ในจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดเลย ตั้งแต่วานนี้ของผู้บริหาร เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และคณะอนุกรรมการด้านวิชาการและติดตามประเมินผลโครงการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วงบ่ายวันนี้ นายประสาท พาศิริ รองเลขาธิการ สำนักงาน กปร. ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ กล่าวว่า การดำเนินงานในเรื่องหญ้าแฝกของ กปร. ได้สนองงานพระราชดำริฯมาตั้งแต่ปี 2532 โดยได้ดำเนินการลงไปให้ความรู้ ความเข้าใจ รวมถึงสนับสนุนหน่วยงานต่างๆเพื่อให้น้อมนำแนวพระราชดำริลงไปดำเนินการเพื่อต้องการให้ชีวิตประชาชนรวมถึงทรัพยากรดินและน้ำในแต่ละพื้นที่มีความสมบูรณ์ดีขึ้น กปร.ก็จะลงพื้นที่ติดตามดูงาน รวมถึงมาให้กำลังใจ ให้ข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญแก่ผู้ปฎิบัติในเรื่องการใช้หญ้าแฝกในแต่ละพื้นที่โดยตรง ว่าสามารถนำไปดำเนินการถูกต้องหรือดูว่ามีผลสำเร็จไปมากน้อยเพียงใด
สำหรับการมาติดตามงานในครั้งนี้ก็เห็นว่าการดำเนินงานในแต่ละพื้นที่มีความสอดคล้องตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ คือ สามารถทำให้ชุมชน และประชาชนรับรู้ เข้าใจถึงคุณค่าของหญ้าแฝกว่าเป็นตัวช่วยในการอนุรักษ์ดินและน้ำของป่าต้นน้ำ รวมถึงสร้างการรับรู้เรื่องการสร้างมูลค่า เช่น นำหญ้าแฝกไปเป็นสินค้าหัตถกรรม ซึ่งทำให้ชาวบ้านรวมถึงป่ามีความสมบูรณ์มากขึ้น
ส่วนแนวทางการพัฒนาในอนาคตตอนนี้หน่วยงานราชการ อาทิ กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า รวมถึงกระทรวงคมนาคม ได้นำหญ้าแฝกไปใช้ในการฟื้นฟูดิน รวมถึงป้องกันการพังทลาย ดินถล่ม และนำไปส่งเสริมใช้ในองค์กรฯ และขยายผลในพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งจะเป็นการขยายผลเรื่องหญ้าแฝกให้เข้าถึงในทุกพื้นที่ได้อีกทางหนึ่ง
ขณะที่ผลการดำเนินการในพื้นที่ นายแสวง ดาปะ เกษตรกรในพื้นที่ บ้านศิลา ในตำบลตาดกลอย อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เริ่มนำหญ้าแฝกมาปรับใช้ในพื้นที่ เล่าให้ฟังว่า ภูมิประเทศในแถบนี้เกือบทั้งหมดจะเป็นภูเขาหัวโล้นลาดชันซึ่งมักจะเกิดภัยธรรมชาติการพังทลายของหน้าดินอยู่บ่อยครั้ง เนื่องจากเกษตรกรแถวนี้แต่เดิมนิยมปลูกข้าวโพดบนเขา ในช่วงเดือน กรกฏาคม ถึง เดือนตุลาคม นอกจากนั้นก็จะไปประกอบอาชีพขายลอตเตอรี่ และรับจ้าง ซึ่งการปลูกข้าวโพดบนภูเขานี้ ก็มีการใช้สารเคมี ยาฆ่าหญ้าจำนวนมาก จึงทำให้พืชในธรรมชาติที่มีอยู่รากเน่า และเมื่อถึงฤดูฝนก็ทำให้เกิดการพังทลายของหน้าดิน
นายแสวง จึงเริ่มลองหันเปลี่ยนมาทำการเกษตรแบบใหม่ คือ น้อมนำแนวพระราชดำริฯ การปลูกเกษตรแบบผสมผสานมาปลูก อาทิ กล้วย มะม่วง มะขามฯลฯ มาปลูกโดยนำหญ้าแฝกมาปลูกร่วมด้วย เพื่อช่วยฟื้นฟูหน้าดิน และป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ซึ่งได้หน่วยงานเกษตรในพื้นที่คอยให้คำแนะนำ ซึ่งตอนนี้ก็เริ่มทำการเกษตรรูปแบบใหม่ได้ไม่นาน จึงคิดว่าถ้าประสบผลสำเร็จก็คาดว่าอนาคตจะขยายผลไปในพื้นที่ใกล้เคียง
ผู้สื่อข่าว:วิรวินท์ ศรีโหมด