การแถลงผลการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอุทยานราชภัคดิ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช. )พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย และ นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะผู้ร้องมาร่วมรับฟังการแถลงข่าวด้วย
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่าในการแถลงข่าวครั้งแรก ชี้แจงว่าผู้ดำเนินการระบุว่ามีหัวคิว จึงได้มีการเริ่มตรวจสอบซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็ถือว่าผิดกฎหมายแน่ๆ ในวันนี้ ได้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบชี้แจงประเด็นการหักหัวคิว การจัดซื้อจัดจ้าง และการใช้งบประมาณ แต่การชี้แจงจะต้องยึดถือกฎหมายโดยไม่อาจระบุตัวบุคคลได้
ในกรณีการหักหัวคิว นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ป.ป.ท. ระบุ ได้ดำเนินการเอกสาร และปากคำจากภาครัฐและเอกชน สรุปได้ว่า มีการจ่ายเงินกันจริงระหว่างเอกชนกับเอกชน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายระบุว่าเป็นการให้ค่าตอบแทนทางธุรกิจ ค่าชักนำงานมาให้ ซึ่งเป็นวงเงินร้อยละ 6-7 ของค่าจ้าง ซึ่งถือเป็นราคาตามราคาท้องตลาด
ด้านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่า สตง. กล่าวว่า สตง. ได้ตรวจสอบ ในประเด็นแรก คือเรื่องเงินบริจาค สรุปได้ว่าจากการตรวจสอบ เชื่อว่าประเด็นเงินบริจาคไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และทางกองทัพได้มีการเตรียมใบเสร็จรับเงินให้กับผู้บริจาคแล้ว และปัจจุบันได้ปิดบัญชีเหลือ เพียงแค่ 1 บัญชีแยกออกต่างหาก โดยรวมตัวเลขทั้งหมดที่มีการรับเงินมา 733 ล้านบาท โดยมีการใช้จ่ายไปแล้ว 458 ล้านบาท โดยมีค่าองค์พระไปด้วย และการยืมเพื่อไปจัดทำเหรียญให้ประชาชนบูชาจำนวนเงิน 105 ล้านบาท และเงินคงเหลือขณะนี้ตัดยอด วันที่ 31 ธ.ค. 2558 คือ 140 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีเงินจำนวน 63 ล้านบาท ที่เป็นงบกลางที่รัฐบาลเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุน และเงินจากกองทัพบกเป็นงบที่ตั้งไว้ปกติอยู่แล้วเพื่อทำรั้วโรงเรียนที่ตั้ง 27 ล้านบาท ส่วนเงินมูลนิธิ ตรวจสอบว่ารับเงิน 108 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่มีค่าใข้จ่ายเกิดขึ้น
ส่วนประเด็นชื่อบัญชีที่ใช้ว่าเงินสวัสดิการกองทัพบกตั้งแต่เริ่มมาจนถึงปัจจุบันมีการเปลี่ยนชื่อเป็นกองทุนสวัสดิการราชภักดิ์แล้ว ส่วนข้อสงสัยว่าโอนทรัพย์สินในอุทยานไปให้มูลนิธิอุทยานฯหรือยัง พบว่าทั้งหมดยังอยู่ในราชการ และขอยืนยันว่า จากการตรวจสอบ ไม่พบการตกแต่งบัญชีหรือบิดเบือน ทั้งกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการจ่ายเงิน
ประเด็นเรื่องการซื้อต้นไม้ ตรวจสอบว่าไม่มีการซื้อ เพราะต้นไม้ได้มาจากการบริจาค ส่วนที่ว่ามีการเก็บเงินค่าต้นไม้เป็นการสมทบทุนของผู้ที่ต้องการปลูกไม้
ความสมบูรณ์ของเนื้องาน มีความเรียบร้อยร้อยละ 95 ส่วนวัสดุที่ใช้หล่อองค์พระเป็นวัสดุนำเข้าจากต่างประเทศ ตรวจสอบพบว่ามีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดตามสัญญาที่กำหนดให้ใช้วัสดุนำเข้าจากต่างประเทศ
นอกจากนี้จากการตรวจสอบประวัติเซียนอุ๊ ที่อ้างว่ามีเรียกรับค่าหัวคิว ทำให้รู้ว่าเซียนอุ๊ มีกิจการโรงหล่อเป็นของตัวเอง และการที่เซียนอุ๊ ได้รับเงินจาก 5 โรงหล่อ จำนวน 20 ล้านบาท เพราะมาจากการให้คำปรึกษาแนะนำในการดำเนินการก่อสร้าง แต่หลังจากนั้นได้มีการนำเงินค่าที่ปรึกษาบางส่วนมาคืนเป็นเงินบริจาคในนามของ โรงหล่อสยามปุระ ซึ่งเป็นกิจการของเซียนอุ๊
ขณะที่นายจตุพร กล่าวว่า เดินทางมาครั้งนี้เพื่อร่วมรับฟังการแถลงข่าวซึ่งโครงการอุทยานราชภักดิ์ เป็นโครงการที่มีเจตนาที่ดีแต่ก็มีการตั้งข้อสงสัยในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการหักหัวคิว เรื่องรอยร้าว การที่เซียนอุ๊ ซึ่งถือเป็นข้าราชการเป็นอดีตองค์การบริหารส่วนตำบล รับเงินถือว่ามีความผิด และข้อสงสัยในประเด็นผลการสอบสวนที่คล้ายมีการส่งสัญญานมาก่อนหน้านี้ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร โดยพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และ สตง.ให้ข่าวในทิศทางเดียวกันว่าไม่มีการทุจริตเกิดขึ้น ทั้งที่มีการแอบอ้างเบื้องสูง ปรากฎหลักฐานชัดเจนตั้งแต่โครงการ bike for mom ไปจนถึงโครงการอุทยานราขภักดิ์ ขณะเดียวกันล่าสุด ป.ป.ช. ก็ออกมาระบุว่า หากการแถลงข่าววันนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปป.ป.ช. ก็จะดำเนินการสอบสวนต่อไป ยืนยันว่าไม่มีความประสงค์จะเอาผิดใครแต่โครงการดังกล่าวมีการทุจริตก็จะถือว่าเป็นตราบาปของแผ่นดิน
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ไพบูลย์ ได้ตอบคำถามโดยระบุว่า การที่พล.อ.อุดมเดช ยอมรับว่ามีการรับค่าหัวคิวเพราะสับสนในการใช้ถ้อยคำระหว่างค่าหัวคิวตามกฎหมายและข้อเท็จจริง หลังจากนี้จะให้ ป.ป.ช ตรวจสอบหากเซียนอุ๊ ที่เป็นอดีต อบต. ว่ามีการรับเงินเกินกว่าฐานะที่ข้าราชการมีสิทธิรับหรือไม่ รวมถึงจะมีการตรวจสอบราคากลางและสอบการส่งมอบและการตรวจรับงาน ตามที่นายจตุพร ตั้งข้อสงสัย
ผู้สื่อข่าว :ปิยะธิดา เพชรดี