หลังจากที่กระทรวงการคลัง เก็บภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้นมีผลวันนี้ และส่งรายได้เข้ารัฐเพิ่ม 1,100 ล้านบาทต่อเดือน แต่ราคาขายปลีกน้ำมันไม่เปลี่ยนเพราะกองทุนน้ำมัน จัดเก็บลดลง นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง จัดเก็บภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้นทุกชนิด มีผลวันที่ 23 มี.ค. ดังนั้น คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จึงได้ประกาศลดการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลง จึงทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันไม่เปลี่ยนแปลง ผลดีที่เกิดขึ้นคือ รัฐบาลได้รายได้เพิ่มขึ้น 1,110 ล้านบาทต่อเดือน จาก 14,185 ล้านบาท เป็น 15,296 ล้านบาท และภาษีของกลุ่มดีเซล กับกลุ่มเบนซินมีอัตราใกล้เคียงกันเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้ใช้น้ำมัน
ด้านนายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง อัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน มีผลทำให้ภาษีน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น 30-40 สตางค์/ลิตร เนื่องจากขณะนี้กรมไม่ได้เก็บภาษีน้ำมันเต็มเพดาน 10 บาท โดยก่อนประกาศภาษีใหม่นั้น เบนซินเก็บที่ 5.60 บาท/ลิตร อี10 เก็บ 5.04 บาท/ลิตร อี20 เก็บ 4.44 บาท/ลิตร อี85 เก็บ 0.85 บาท/ลิตร ดีเซล เก็บ 4.95 บาท ของใหม่เบนซินเก็บที่ 6 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้น 40 สตางค์/ลิตร อี10 เก็บ 5.40 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้น 40 สตางค์/ลิตร อี20 เก็บ 4.80 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้น 36 สตางค์/ลิตร อี85 เก็บ 0.90 บาท/ลิตร เพิ่มขึ้น 6 สตางค์/ลิตร ดีเซลเก็บ 5.35 บาท เพิ่มขึ้น 40 สตางค์/ลิตร
การปรับขึ้นภาษีดังกล่าวมีผลทำให้รายได้จัดเก็บเพิ่มขึ้นเดือนละประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ไม่มีผลกับราคาหน้าสถานีบริการน้ำมันเนื่องจากเป็นการโยกจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นภาษี จึงไม่กระทบต่อประชาชน
หลังจากมีการแชร์ข้อมูลเรื่องการลดราคาน้ำมันในวันพรุ่งนี้ (24 มี.ค.) จส.100 ขอข้อมูลจากนายสมเดช ศรีสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ยืนยันว่า เรื่องการเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ลดเงินกองทุนน้ำมัน ซึ่งไม่กระทบราคาหน้าปั๊ม ยกตัวอย่างภาษีสรรพสามิต ของราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 5.44 บาท/ลิตร เพิ่มอีก 0.44 บาท/ลิตร เป็น 5.88 บาท/ลิตร ซึ่งไม่ผลกระทบต่อการราคาขายปลีกหน้าปั๊ม เพราะจะขายเท่าเดิม ยกเว้นราคาน้ำมันตลาดโลก ที่มีการขึ้น-ลง ราคาน้ำมันต้องปรับขึ้นลงตาม ดังนั้นการส่งข้อมูลกันทางไลน์ว่า อย่ารีบเติมน้ำมัน เพราะพรุ่งนี้น้ำมันจะลดราคาถึง 4 บาทจึงไม่เป็นความจริง