นายกฯเยือนจีน/กรธ.พิจารณาข้อเสนอคสช.*

21 มีนาคม 2559, 07:14น.


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะ มีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 (Mekong-Lancang Cooperation : MLC) ที่เมืองซานย่า และการประชุม Boao Forum for Asia ที่เมืองโป๋อ๋าว มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคมนี้ โดยมีกำหนดออกเดินทางในวันพรุ่งนี้เช่นกัน



กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง มีสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีน โดยเป็นกรอบความร่วมมือที่จีนพัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งได้เสนอให้มีกรอบความร่วมมือที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สำหรับการประชุมครั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จะเป็นประธานการประชุมร่วมกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน โดยมีหัวข้อหลักของการประชุมคือ "Shared River, Shared Future"



สำหรับการประชุม Boao Forum for Asia เป็นเวทีของผู้นำรัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาควิชาการ ที่จะร่วมหารือและแสดงวิสัยทัศน์ ปัจจุบันมีสมาชิก 28 ประเทศ หัวข้อการประชุมในปีนี้ คือ Asia's New Future : New Dynamics, New Vision ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะร่วมกล่าวถ้อยแถลงร่วมกับผู้นำประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขงและประเทศนอกภูมิภาคด้วย



วันนี้ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฝ่ายจัดกิจกรรมการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล



นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ทำเนียบรัฐบาล



จากนั้นในช่วงบ่าย นายภควันต สิงห พิศโนอี (Mr. Bhagwant Singh Bishnoi) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินเดียประจำประเทศไทยเข้าเยี่ยมคารวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องในโอกาสเข้ารับหน้าที่



หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานเปิดโครงการเสริมสร้างความร่วมมือในการป้องกันการทุจริต และบรรยายพิเศษ หัวข้อ “คุณธรรมตามรอยพระยุคลบาทและความรู้รักสามัคคีตามนโยบายประชารัฐ” ณ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต



การประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในวันนี้จะพิจารณาข้อเสนอแม่น้ำสี่สาย นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า การพิจารณาข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับแนวทางที่ 3 ที่มีการเสนอให้พบกันครึ่งทาง อาจเป็นแนวทางที่เหมาะสมเพื่อให้ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำงานร่วมกันได้ โดยรัฐบาลขับเคลื่อนนโยบาย ส่วน สว.ก็สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปและจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้ประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด



นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ. กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ จะพิจารณาในประเด็นโครงสร้างทางการเมืองและระบบเลือกตั้ง รวมทั้งข้อเสนอแนะของ คสช.ต่อการปรับปรุงบทบัญญัติในบทเฉพาะกาล ซึ่งเมื่อ กรธ.พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จในวันที่ 26 มีนาคม จะส่งร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายให้กับคณะรัฐมนตรีในวันที่ 29 มีนาคม เพื่อนำไปจัดทาประชามติต่อไป จากนั้นวันที่ 30 มีนาคม กรธ.นัดหมายสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และหัวหน้าส่วนราชการมารับฟังสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ



ส่วนที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตรวจสอบประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้จัดทำร่าง รัฐธรรมนูญตามขั้นตอนที่บังคับไว้ และอาจมีผลต่อร่างรัฐธรรมนูญ



สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนและเครือข่ายฯ นำโดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมฯ เดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้เสนอคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่ง เร่งรัดโครงการขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องรอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA/EHIA)



สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปีงบประมาณ 2559 (ระหว่างเดือนตุลาคม 2558-กันยายน 2559) จะต้องทำคดีสำคัญให้แล้วเสร็จอย่างน้อย 500 คดี จึงจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพิ่มอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่มีประสบการณ์ทำงานระดับหนึ่ง หรือเทียบเท่าข้าราชการระดับซี 4-5 มาร่วมทำสำนวนการไต่สวนคดีทุจริต โดยต้องเสนอผ่านที่ประชุม ครม. เพื่อขอให้ส่งเรื่องไปให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป



..

ข่าวทั้งหมด

X