สภาวิศวกรตั้งข้อสังเกตหลายประการเกี่ยวกับระบบดับเพลิงทำงานขัดข้องที่อาคารเอสซีบีพาร์ค

20 มีนาคม 2559, 13:51น.


สภาวิศวกร ร่วมกับสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร ร่วมแถลงข่าว ถอดบทเรียนระบบดับเพลิงแอโรซอง (Aerosol) โดยมีการตั้งข้อสังเกตถึงกรณีที่เกิดเหตุระบบดับเพลิงทำงานขัดข้องที่ อาคารเอสซีบีพาร์ค เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ


 


ร้อยโทวโรดม สุจริตกุล ตัวแทนจากสถาบันป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ในการที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจะเข้าไปซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนระบบ จะต้องมีผู้ที่ได้รับการอบรมตามมาตรการความปลอดภัยในการทำงาน เข้าร่วมการทำงานด้วย  ทั้งตั้งข้อสังเกตว่า ระบบดับเพลิงจะมีหน่วงเวลา 30-60 วินาที ก่อนการปล่อยสารเคมี ซึ่งตามหลักแล้วจะต้องปิดหรือล็อคระบบก่อนที่จะเข้าไปปฏิบัติงาน เพราะสารแอโรซอลมีสารประกอบหลายชนิด ที่ทำให้ก๊าซเป็นพิษ หากรับสารนานเกิน 15 นาที อาจทำให้เสียชีวิตได้


พร้อมยืนยันว่าระบบดับเพลิงพิเศษแอโรซอลไม่ก่อให้เกิดอันตรายในทันที และเป็นระบบที่ใช้กันแพร่หลาย


ด้านนายวสวัตติ์ กฤษศิริธีรภาคย์  นายกสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร  ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าห้องที่เกิดเหตุ มีอุปกรณ์ช่วยเหลือ กรณีที่เกิดฉุกเฉินหรือไม่ มีทางหนีไฟเพียงพอหรือไม่ มีการซักซ้อมแผนการป้องกันอัคคีภัยฉุกเฉินอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ การตรวจรักษาอุปกรณ์ดับเพลิงพิเศษโดยวิศวกร และที่สำคัญมีการขอปิดระบบก่อนเข้าไปปฏิบัติงานหรือไม่ ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่ามีเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในการทำงาน หรือ จ.บ. เข้าไปประเมินความเสี่ยงก่อนการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่หรือไม่


ทั้งนี้ทางสภาวิศวกรได้สรุปข้อสังเกตเพิ่มเติม 5 ประเด็น คือ มีมาตรฐานในการปฏิบัติงานอย่างถูกต้องหรือไม่  มีการบริการจัดการด้านความปลอดภัยตามมาตราฐานอย่างเป็นระบบหรือไม่ มีเจ้าหน้าที่ผู้เชียวชาญด้านความปลอดภัยควบคุมการทำงานประจำจุดอย่างรัดกุมหรือไม่ มีการประสานงานกับหน่วยรับผิดชอบในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ และสุดท้ายระบุว่าทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมกันในการทำให้เกิดความปลอดภัยด้านต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดไม่ใช่แค่ผู้ปฏิบัติหน้าที่เพียงอย่างเดียว


ซึ่งในขณะนี้ทางสภาฯ ยังไม่ได้รับเอกสารสำคัญจากธนาคารไทยพาณิชย์ ที่จะนำไปใช้ประกอบการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามกฎหมายจรรยาบรรณวิศวกรรม หากพบว่าผิดจริง จะเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายจรรยาบรรณฯ มีโทษปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะพิจารณายกเลิกหรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ซึ่งจะตรวจสอบควบคู่ไปกับการดำเนินคดีอาญา ส่วนข้อสังเกตุประเด็นที่ว่า การปิดระบบก่อนเข้าปฏิบัติงานหรือไม่นั้น หากพบว่ามีการแจ้งไปแล้ว แต่ไม่ได้ดำเนินการให้นั้น ก็เป็นประเด็นที่จะต้องให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาชี้แจงอีกครั้ง


 


..


 


ผสข.พนิตา สืบสมุทร
ข่าวทั้งหมด

X