ปัญหาอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้วิเคราะห์ปัญหาการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจราจรทางถนน ในปี 2558 พบรถโดยสารสาธารณะ เกิดอุบัติเหตุที่เป็นข่าวและมีการรายงานผ่านเครือข่ายกู้ชีพ 104 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 49 คน บาดเจ็บ 675 คน ในจำนวนนี้เป็นรถทัศนศึกษาของสถานศึกษาถึง 6 ครั้ง ส่วนในปี 2559 ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-9 มีนาคม 2559 รถโดยสารสาธารณะ รถทัศนศึกษา เกิดอุบัติเหตุ 4 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 174 คน เสียชีวิต 8 คน จากการสอบสวนเบื้องต้นของทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว(SRRT)ในระดับพื้นที่ร่วมกับทีมสหสาขาวิชาชีพ พบว่าสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตและบาดเจ็บรุนแรง ในผู้โดยสาร คือ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อเกิดอุบัติเหตุทำให้หลุดออกจากเก้าอี้ และกระเด็นออกนอกตัวรถ
สำหรับข้อมูลสะสมการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากจราจร จากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ รวบรวมตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 -13 มีนาคม 2559 มีผู้บาดเจ็บ 152,438 คน ผู้เสียชีวิต 2,315 คน
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ พบว่าเกิดจากพนักงานขับรถ มีความอ่อนล้าเนื่องจากขับรถต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะรถทัศนาจรทีจ้างเหมาพนักงานขับรถคนเดียว รวมทั้ง สาเหตุการไม่ชำนาญเส้นทางใช้ความเร็วไม่เหมาะสมกับเส้นทางโดยเฉพาะเส้นทางลาดชัน ลงเนินโค้งหักศอก ประกอบกับสภาพรถที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ระบบเบรก ความแข็งแรงโครงสร้างหรือเก้าอี้หลุด
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง มีคำแนะนำให้ผู้เกี่ยวข้องมีการดำเนินการ คือ พนักงานขับรถ ควรศึกษาเส้นทางบริเวณใดที่เสี่ยงอันตรายควรหลีกเลี่ยงให้ใช้เส้นทางที่มีความชำนาญ ตรวจสอบสภาพรถ อุปกรณ์ส่วนควบให้สามารถทำงานได้สมบูรณ์ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อมิให้เกิดอาการง่วงหลับใน ต้องเปลี่ยนพนักงานขับรถที่ขับมาต่อเนื่องเป็นระยะทาง 400 กิโลเมตร หรือหากขับรถที่มีระยะทางเกินกว่า 4 ชั่วโมง ต้องหยุดพักไม่น้อยกว่า 30 นาทีและสามารถขับต่อไปอีกไม่เกิน 4 ชั่วโมง โดยใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีทัศนศึกษาของสถานศึกษา หรือหน่วยงานต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงเดินทางกลางคืน และเพื่อให้ลดความสูญเสียเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และผู้รับผิดชอบดูแลการไป ทัศนศึกษา ต้องช่วยกำกับให้ผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัย เนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุจะช่วยให้ไม่กระเด็นออกนอกตัวรถ หรือได้รับบาดเจ็บน้อยกว่าคนไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และช่วยลดการเสียชีวิตได้ รวมทั้ง ตรวจสอบว่า มีการประกันภัย ทั้งภาคบังคับ ภาคสมัครใจ รวมทั้งประกันภัยบุคคล (ถ้าทำได้)
แฟ้มภาพ