*อดีตรม.ทส.ยื่นศาลปกครองพิจารณาใหม่ คดีค่าโง่คลองด่าน*

15 มีนาคม 2559, 18:43น.


นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วย นายอภิชัย ชวเจริญพันธ์ อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และกรรมการชุดบริหารสัญญาโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน รวม 7 คน เข้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้พิจารณาคดีใหม่ เรื่องคดีที่ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดเคยพิจารณาบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยสุดท้ายแล้วเป็นเหตุให้ทางราชการเจรจาจ่ายเงินให้กับฝ่ายกิจการร่วมค้าในโครงการคลองด่าน จำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งได้จ่ายไปแล้ว 4 พันล้านบาท หรือร้อยละ 40 เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2558 และมีกำหนดจ่ายต่อไปอีก 2 งวด ๆ ละประมาณ 3 พันล้านบาท ภายในวันที่ 21 พ.ค. 2559 และ 21 พ.ย.2559 ตามลำดับ



สาเหตุมายื่นคำร้องครั้งนี้ว่า เพื่อขอให้พิจารณาคดีใหม่ต่อศาลปกครองกลาง เนื่องจากฝ่ายราชการแพ้คดีและต้องชดใช้ค่าโง่เป็นเงินจำนวนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยจากการตรวจสอบ พบว่า คณะอนุญาโตตุลาการ ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุดไม่ได้ยึดถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีอาญาของศาลแขวงดุสิตที่ได้พิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ เป็นฝ่ายชนะคดีทั้ง 2 สำนวน คือ สำนวนฉ้อโกงเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินจำนวน 1,900 ไร่ และสำนวนฉ้อโกงสัญญาว่าจ้างเกี่ยวกับกรณีปกปิดข้อเท็จจริงเรื่องบริษัทผู้เชี่ยวชาญ คือ บริษัท นอร์ทเวส วอเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ถอนตัวและบอกเลิกหนังสือมอบอำนาจก่อนการลงนามระหว่างฝ่ายกรมควบคุมมลพิษกับฝ่ายกิจการร่วมค้า ในปี 2540 ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะต้องยึดถือข้อเท็จจริงตามที่รับฟังได้ในคดีอาญาเป็นหลัก จึงได้ร้องขอให้ศาลปกครองพิจารณาคดีใหม่ โดยฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีอาญาของศาลแขวงดุสิต ศาลแขวงดุสิตนั้นได้มีคำพิพากษาตั้งแต่ พ.ย. ปี พ.ศ. 2552 โดยศาลพิพากษาให้จำคุกบรรดากรรมการที่เป็นสมาชิกของกิจการร่วมค้าคนละ 3 ปี และให้ปรับบริษัทที่เป็นสมาชิกกิจการร่วมค้าบริษัทละ 6,000 บาท



ส่วนคดีอนุญาโตตุลาการนั้นเสร็จทีหลัง คือ ในปี พ.ศ.2554 ดังนั้นคณะอนุญาโตตุลาการจึงมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยชี้ขาดคดีตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ในคดีอาญาของศาลแขวงดุสิต



 นอกจากนั้นยังมีหลักฐานใหม่คือคำพิพากษาของศาลอาญา ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม 2558 ซึ่งได้พิพากษาจำคุกอดีตอธิบดีปกิต กีระวานิช อดีตอธิบดีศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ และนางยุวรี อินนา ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการในกรมควบคุมมลพิษคนละ 20 ปี ซึ่งในคำพิพากษาดังกล่าว ศาลได้วินิจฉัยด้วยว่าสัญญาว่าจ้างที่ทำระหว่างกรมควบคุมมลพิษกับฝ่ายกิจการร่วมค้านั้นเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาตั้งแต่ต้น เพราะมีการลงนามในสัญญาว่าจ้าง โดยไม่มีบริษัท นอร์ทเวสต์ฯ



ผู้ร้องขอทั้ง 7 คน ได้ยื่นส่งคำพิพากษาของศาลฎีกาคดีของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยหรือที่จำกันได้ทั่วไปว่าคดีโครงการทางด่วน ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานว่า หากมีกรณีทุจริตเกี่ยวกับการทำสัญญาว่าจ้าง สัญญาดังกล่าวถือเป็นสัญญาที่เกิดจากการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลผูกพันทางราชการ และศาลต้องไม่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

ข่าวทั้งหมด

X