ออกหมายจับ2ผตห.เหตุระบบดับเพลิงอัตโนมัติเอซซีบี/หนี้เสียเกษตรกรแตะร้อยละ4*

15 มีนาคม 2559, 08:30น.


จากเหตุที่มีผู้เสียชีวิตในห้องเก็บเอกสารธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ อาคารเอสซีบี พาร์ค  พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร รรท.ผบช.น. เปิดเผยว่า ในส่วนของผู้รับเหมาที่เข้าไปติดตั้งระบบดับเพลิงอัตโนมัตินั้น มีบริษัทผู้ได้รับประมูลมาจากธนาคารไทยพาณิชย์ ไปว่าจ้างบริษัทย่อยรับเหมาช่วงต่อ ซึ่งอาจจะมีข้อบกพร่อง และมีความเชี่ยวชาญชำนาญน้อย



ล่าสุดคือ ศาลอาญาออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้อง 2 คน ในข้อหากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งเป็นการออกหมายจับ ตามการสอบพยาน และหนังสือสัญญาที่มีการระบุว่า หากเกิดความผิดพลาดขึ้นในระหว่างปฏิบัติงาน ใครจะต้องรับผิดชอบบ้าง ซึ่งหลังจากนี้จะมีการขออนุมัติหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมต่อไป



ด้านพ.ต.ท.ดร.บัณฑิต ประดับสุข อุปนายกสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ วิศวะกร กล่าวว่า จากการตรวจสอบ พบว่าภายในห้องเป็นห้องนิรภัยเก็บเอกสารประเภทกระดาษ คาดว่าตอนเกิดเหตุผู้รับเหมาคงใช้สว่านเจาะพนังคอนกรีตเลยทำให้มีฝุ่นฟุ้งตัวไปถูกตรวจจับควัน ซึ่งโดยปกติแล้วตัวตรวจจับควันจะมีสองจุดตรวจ จะทำงานต่อเมื่อทั้งสองจุดตรวจพบอนุภาค ซึ่งในกรณีนี้ฝุ่นที่เกิดจากการเจาะผนังคอนกรีตน่าจะไปทำให้ตัวตรวจจับทำงานแก๊สไพโรเจนที่ใช้ดับเพลิงจึงดูดจับออกซิเจนออกไป



ส่วนเรื่องการปราบปรามผู้มีอิทธิพล พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. กล่าวว่า จากบัญชีรายชื่อผู้มีอิทธิพลซึ่งมี อยู่มากกว่า 6,000 คน มีอยู่ประมาณ 200 คนที่เป็นตำรวจ ซึ่งมีการทยอยรายงานผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว ถ้าผิดก็ต้องดำเนินการทางวินัยและอาญา แต่ถ้าไม่ผิดก็เสนอยุติไป



ด้านพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. กล่าวว่าจากการตรวจสอบล่าสุดมีจำนวนไม่ถึง 200 รายแล้ว เพราะมีทั้งที่สูญหาย ติดต่อไม่ได้ เสียชีวิต ถูกจับกุมคุมขังแล้ว และในวันที่ 18 มีนาคม กองบัญชาการต่างๆ จะรายงานความคืบหน้าการทำงานอีกครั้ง



สำนักงบประมาณประเมินว่าจะมีรายการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบ 2559 ของส่วนราชการต่างๆ ที่ไม่สามารถลงนามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้ทันวันที่ 31 มีนาคมนี้ และต้องถูกริบงบมาตั้งเป็นงบกลางรายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายใต้ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2559 ก้อนแรก 88,200 ล้านบาท โดยการนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้ทางสำนักงบประมาณพิจารณาจะเป็นผู้เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบหรืออนุมัติอีกครั้ง และกำหนดเป็นรายการใช้จ่ายภายใต้ร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ ที่จะต้องนำร่าง พ.ร.บ.โอนงบฯ เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 10 พฤษภาคม และเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันที่ 26 พฤษภาคมนี้



ก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ระบุว่า จะมีรายการที่ก่อหนี้ไม่ทันและต้องถูกริบเข้าเป็นงบกลางประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปใช้ในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ



นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประเมินแนวโน้มหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในภาคการเกษตรในปีนี้ อาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า โดยเมื่อสิ้นปีงบประมาณของธ.ก.ส. ในปี 2558 (31 มี.ค.2559) เอ็นพีแอลอาจจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 4 เนื่องจากราคาพืชผลเกษตรที่ตกต่ำ และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง โดยธนาคารมีมาตรการช่วยเหลือ เพื่อลดภาระหนี้สินเกษตรกร ทั้งการปลดหนี้สินให้กับกลุ่มที่ไม่มีศักยภาพที่จะคืนหนี้แล้ว พร้อมกับปรับเปลี่ยนโครงสร้างการชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ รวมถึงการขยายเวลาการชำระหนี้ ซึ่งมีการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้วกว่า 4 แสนราย



เมื่อวานนี้ศาลล้มละลายกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ พิจารณาคดีที่มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นโจทก์ที่ 1 และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นโจทก์ที่ 2 ยื่นฟ้อง น.ส.ดลฤดี จำลองราษฎร์ ผู้รับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโทและเอกที่สหรัฐอเมริกา เป็นจำเลย เพื่อให้รับผิดชอบชดใช้ทุนที่ผิดสัญญา ซึ่งเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2549 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้จำเลยชดใช้ แต่จำเลยเพิกเฉยไม่นำเงินมาชำระ โจทก์จึงขอให้ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และขอให้พิพากษาจำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลพิจารณาพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว จึงมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยให้หักจากกองทรัพย์สินของจำเลยเฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร



 



*-*

ข่าวทั้งหมด

X