นายกฯให้กำลังใจจนท.,กำลังพลชายแดนใต้/กรธ.พิจารณาข้อเสนอคสช./ภัยแล้งวิกฤติ15จังหวัด*

15 มีนาคม 2559, 07:48น.


จากเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดยะลา ซึ่งพบว่าคนร้ายบุกรุกก่อเหตุที่รพ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาสด้วยนั้น พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีฝากให้กำลังใจแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของ รพ.เจาะไอร้อง รวมทั้งกำลังพลทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ที่ร่วมกันให้ความคุ้มครองความปลอดภัยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องชาวไทยพุทธหรือชาวมุสลิม ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ ผู้บัญชาการทหารบก แม่ทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 กวาดล้างพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดนราธิวาส เพื่อติดตามจับกุมตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายให้ได้โดยเร็ว และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ช่วยให้ข่าวทางลับแก่เจ้าหน้าที่ หรือแจ้งตรงมายังนายกรัฐมนตรี เพื่อร่วมกันขจัดกลุ่มผู้ก่อเหตุให้หมดสิ้น



โดยในการตรวจสอบพื้นที่ รพ.เจาะไอร้อง ซึ่งคนร้ายบุกเข้าไปในโรงพยาบาลเพื่อโจมตีทหารพรานที่4816 เจ้าหน้าที่รวบรวมปลอกกระสุนชนิดต่างๆ ได้มากกว่า 2,000 ปลอก อย่างไรก็ตาม น.ส.บุญรัตน์ ประพันธ์วงศ์ ผอ.ร.พ.เจาะไอร้อง กล่าวว่า ทุกคนมีขวัญกำลังใจดี



พล.ต.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า ตามที่สมาชิกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง ก่อเหตุหลายครั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 13 มีนาคมต่อเนื่องถึงวันที่ 14 มีนาคม เป็นเจตนาก่อเหตุพร้อมกันหลายจุด หลังจากว่างเว้นการเกิดเหตุมาระยะเวลาหนึ่ง แต่การบุกยึดสถานพยาบาลเป็นที่มั่นในการก่อเหตุ และควบคุมบุคลากรในสถานพยาบาล ถือเป็นการไม่เคารพหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ และละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน



พ.อ.ยุทธนาม เพชรม่วง รองโฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวว่าการเข้าไปหลบซ่อนตัวในโรงพยาบาลก็เพราะผู้ก่อเหตุทราบดีว่า เจ้าหน้าที่จะไม่ยิงตอบโต้



คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์ประณามการละเมิดหลักการมนุษยธรรม และเรียกร้องให้เคารพเครื่องหมายกาชาด สถานพยาบาลการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ และสิทธิของผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้



ส่วนการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ.ทำหน้าที่ประธานการประชุม เมื่อวานนี้มีการพิจารณาทบทวนบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ตามความเห็นและข้อเสนอแนะ และรับทราบหนังสือความเห็นการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และในวันนี้จะมีการประชุมเพื่อพิจารณา



ด้านการหารือระหว่าง นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) คนที่ 1 กับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กรณีรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว 2557 กำหนดให้ สปท.มีส่วนร่วมในการการตั้งคำถามเพื่อประกอบการทำประชามติ ซึ่งจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (วิป สปท.) อีกครั้งในวันที่ 17 มีนาคม และ 24 มีนาคมนี้ อาจจะมีการมอบหมายให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านการเมืองรับผิดชอบในเรื่องนี้ จากนั้นในวันที่ 28 มีนาคม จะมีการอภิปรายของสปท. เกี่ยวกับลักษณะของคำถามที่ควรจะนำไปทำประชามติ โดย สปท.ต้องส่งเรื่องให้กับ สนช.ภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้



โดยในวันนี้ กมธ. ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สปท. จะมีการประชุมหารือว่าแต่ละคนจะมีข้อเสนอต่อการตั้งคำถามประชามติอย่างไร



ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ... จำนวน 65 มาตรา และนำส่งรัฐบาล เพื่อนำเข้าที่ประชุม ครม.ในวันนี้ จากนั้นจะนำส่ง สนช. พิจารณาเห็นชอบต่อไป โดย กกต. ตัดประเด็นให้กรรมการประจำหน่วยออกเสียงสามารถกาบัตรแทนผู้พิการทางกายภาพได้ เพราะอาจขัดต่อ หลักการการลงคะแนนที่ต้องทำโดยลับ แต่ยังคงเสนอให้ กกต.จัดหน่วยออกเสียงพิเศษให้คนพิการหรือผู้สูงอายุที่ได้ลงทะเบียนขอไว้ เช่น สมาคมคนตาบอด บ้านพักคนชรา เป็นต้น กับเพิ่มเติมให้หน่วยงานรัฐและเอกชนมีส่วนร่วมในการรณรงค์เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและวิธีการออกเสียงได้แต่ต้องไม่เป็นการชี้นำ ส่วนบัตรออกเสียงจะมีเพียงใบเดียว แม้จะมีประเด็นคำถามเพิ่มเติมจาก สนช.ก็ตาม ในบัตรเดียวจะแบ่งเป็น สองตอน แยกสีอย่างชัดเจน มีช่องเห็นชอบและไม่เห็นชอบ จะไม่มีช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน



ส่วนภัยแล้ง นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จำนวน 15 จังหวัด 60 อำเภอ แยกเป็น ภาคเหนือ 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย นครสวรรค์ และน่าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา นครพนม มหาสารคาม และบุรีรัมย์ ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี และเพชรบุรี ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว จันทบุรี และชลบุรี  



นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ในฐานะประธานคณะทำงานศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งระดับชาติ ปี 2558/59 (ศก.กช.) กล่าวว่า จากกรณีน้ำประปา จ.นครราชสีมาจะเหลือน้ำใช้การได้ 15 วัน จึงขอใช้น้ำดิบจากประปาเทศบาลนครราชสีมา แต่เนื่องจากประปาเทศบาล มีข้อตกลงการสูบน้ำจากเขื่อนลำแชะวันละไม่เกิน 35,000 ลบ.ม. การที่จะขอเพิ่มปริมาณการสูบน้ำ จะต้องทำความตกลงกับคณะกรรมการจัดการชลประทานของเขื่อนลำแชะอีกครั้ง โดยจะมีการประชุมทำความตกลงกับคณะกรรมการจัดการชลประทานของเขื่อนลำแชะในต้นสัปดาห์นี้



น.ส.ทรรศนีย์ ฤกษ์ศานติวงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) กล่าวว่า กปน.ได้ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมรณรงค์ประเพณีสงกรานต์ 2559 "สงกรานต์แบบไทย ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า" ขณะนี้ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้มีการเล่นน้ำสงกรานต์ตามประเพณี คือ รณรงค์ให้คนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า เช่นใช้ขันใบเล็กๆ รดน้ำกัน หรือ รดน้ำดำหัวตามประเพณีแทนที่จะเอาน้ำใส่ถังใบใหญ่ๆ ตระเวนสาดน้ำกัน นอกจากนี้ยังมีโครงการช่วยราษฎร์ช่วยรัฐ ช่วยประหยัดน้ำประปา ปี 2 โดยจะนำบิลค่าน้ำประปาของเดือนมีนาคมและเดือนเมษายนมาเปรียบเทียบกัน หากมีการใช้นำลดลงร้อยละ 10 ไม่น้อยกว่า 5 ลบ.ม. ในเดือนมิถุนายนก็จะคืนเงินให้ 100 บาท สำหรับมาตรไม่เกิน 1 นิ้ว และ 200 บาท สำหรับมาตรไม่เกิน 1 นิ้วครึ่ง



*-*

ข่าวทั้งหมด

X