ความร่วมมือบรรเทาและแก้ปัญหาภัยแล้งของประเทศ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับกรมชลประทาน และกรมอุตุนิยมวิทยา แถลงความร่วมมือด้านการบูรณาการข้อมูลเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำแบบครบวัฎจักรน้ำ ของ 3หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง นายทองเปลว กองจันทร์ โฆษกกรมชลประทาน ในฐานะผู้อำนวยการสำนักอุทกวิทยา และบริหารน้ำ กรมชลฯกล่าวว่า การดำเนินการร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ จะเป็นการบูรณาการร่วมกันในการดูแลสถานการณ์น้ำของประเทศ ซึ่งกรมชลฯจะนำข้อมูลจากทุกฝ่าย ทั้งเรื่องปริมาณน้ำฝน น้ำท่า น้ำไหลลงอ่าง นำมาใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำ และเพื่อวางแนวทางการกำหนดแผนการใช้น้ำอย่างเพียงพอ
โดยสถานการณ์ปริมาณน้ำ 4เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิต์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบํารุงแดน ขณะนี้มีปริมาณอยู่ที่ 2,712ล้านลูกบาศก์เมตร โดยขณะนี้กรมชลฯ ปล่อยออกมาอยู่ที่วันละ 17,800,000 ถึง18ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยยืนยันว่า น้ำในเขตชลประทานปีนี้จะมีให้ประชาชนใช้อุปโภค บริโภคเพียงพอไปจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝน แต่น้ำในส่วนการทำการเกษตรปลูกข้าวนาปรังนั้นไม่เพียงพอ สิ่งสำคัญที่ทำให้ปีนี้ยังมีน้ำพอใช้ เพราะเกษตรกรลดการปลูกข้าวนาปรังไปกว่า 950,000ไร่
ส่วนสถานการณ์น้ำต่อจากนี้ ภายในวันที่ 30เม.ย. 2559 คาดว่า น้ำใน 4เขื่อนหลัก จะมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,600ล้านลูกบาศก์เมตร และจะมีน้ำพอใช้ไปถึงเข้าสู่ฤดูฝน แต่เพราะน้ำในปีนี้ที่มีปริมาณน้อย ส่งผลต่อการทำนาปี ครั้งหน้าจากที่เดิมจะสามารถเริ่มทำได้ช่วงต้นเดือน พ.ค. อาจจะล่าช้าออกไปเพื่อรอปริมาณน้ำให้มีเพียงพอก่อน แต่หากในปีนี้หากสถานการณ์น้ำเข้าสู้ขั้นวิกฤติจริงๆหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะออกแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชนได้ใช้ก่อน