การเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศ เป็นระบบสายไฟฟ้าลงดิน นายนิพนธ์ จิรทวีวุฒิ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการใช้ระบบจำหน่ายไฟฟ้าผ่านระบบสายอากาศ ไม่สามารถรองรับความต้องการได้เพียงพอในอนาคต จึงจำเป็นต้องดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นระบบสายไฟฟ้าลงดินอย่างต่อเนื่อง
โดยการดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบไฟฟ้าอากาศเป็นระบบไฟฟ้าใต้ดินของกฟน. ระยะที่ 1 รวม 127.3 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2568 วงเงินลงทุน 48,717 ล้านบาท ล่าสุดได้ประกาศพื้นที่จ่ายไฟฟ้าด้วยระบบสายใต้ดินเพิ่มเติมจำนวน 7 โครงการ มีโครงการที่จะดำเนินการภายในปีนี้ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการสามเสน-รอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งเริ่มดำเนินการในเดือนมีนาคม 2559 และจะดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าร่วมกับงานโครงการของการปะปานครหลวง (กปน.) บริเวณโดยรอบพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2562 รวมระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี
โครงการเทพารักษ์-สุขุมวิท ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (อ่อนนุช-แบริ่ง และแบริ่ง-สมุทรปราการ) คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสิ้นในปี 2564 รวมระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี, โครงการวงเวียนใหญ่-อรุณอัมรินทร์ ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายไฟฟ้าร่วมกับงานโครงการของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาจราจรโดยรอบโรงพยาบาลศิริราช คาดว่าจะเสร็จสิ้นในปี 2565 รวมเวลาดำเนินการ 7 ปี นอกจากนี้ยังมีโครงการติวานนท์-แจ้งวัฒนะ โครงการลาดพร้าว-รามคำแหง โครงการสาทร-เจริญราษฎร์ และโครงการเขตพื้นที่เมืองชั้นใน ซึ่งจะดำเนินการหลังจากปี 2559
สำหรับ การดำเนินงานตามประกาศของกฟน. ใน 7 โครงการ จะไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าเดิม เว้นแต่ผู้ที่ขอใช้ไฟฟ้าใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงการใช้ไฟฟ้าเป็นระดับแรงดันสูงตั้งแต่ 12,000 โวลต์ขึ้นไป และผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีพื้นที่อยู่ในระยะ 50 เมตร จากขอบถนน โดยต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ กฟน. เพื่อรับทราบข้อกำหนดมาตรฐานในการติดตั้งอุปกรณ์ที่รองรับกับระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน โดยจะมีการคิดค่าบริการขอใช้ไฟฟ้าระบบแรงดันสูงเพิ่มเติมจากเดิม นับตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2559 เป็นต้นไป หากประชาชนต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ MEA CallCenter โทร 1130 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.mea.or.th
โดยแผนงานโครงการเปลี่ยนสายไฟฟ้าอากาศเป็นลงดิน จะพิจารณาตามความต้องการเร่งด่วน ในพื้นที่แนวถนนสายหลัก แนวก่อสร้างรถไฟฟ้า และบริเวณสาธารณูปโภคสำคัญ รวมถึงย่านธุรกิจที่มีแนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยโครงการที่กฟน. ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว รวม 40.6 กิโลเมตร ได้แก่ สีลม ปทุมวัน จิตรลดา พหลโยธิน พญาไท และสุขุมวิท