นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยสถานะของหนี้สาธารณะคงค้าง ณวันที่ 31 มกราคม 2559 มีจำนวน 5 ล้าน 9 แสน 8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 44.06 ของจีดีพี เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่าหนี้สาธารณะลดลง 2 หมื่น 4 พัน 3 ร้อยล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้ของรัฐบาล 4 ล้าน 3 แสน 8 หมื่นล้านบาท ลดลง 2 หมื่น 2 พัน 8 ร้อยล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1 ล้าน 4 หมื่นล้านบาท ลดลง 431 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 5 แสน 3 หมื่น 1 พันล้านบาท ลดลง 1,137 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานของรัฐ 1 หมื่น 7 พัน 4 ร้อยล้านบาท ลดลง 5 ล้านบาท
โดยในเดือนมกราคม มีการบริหารจัดการหนี้รัฐวิสาหกิจ วงเงิน 1 หมื่น 5 พัน 1 ร้อยล้านบาท แบ่งเป็นการจัดหาเงินกู้ให้แก่การประปาส่วนภูมิภาค เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 170 ล้านบาท การปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 1 หมื่นล้านบาท และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 5,000 ล้านบาท
หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2559 แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 5 ล้าน 6 แสน 3 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 94.14 และหนี้ต่างประเทศ 3 แสน 5 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 5.86 ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด และแบ่งเป็นหนี้ระยะยาว 5 ล้าน 6 แสน 8 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 95.14 และหนี้ระยะสั้น 2 แสน 9 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 4.86% ของหนี้สาธารณะคงค้างทั้งหมด
..