การแสดงความเห็นของนักวิชาการหรือกลุ่มเอ็นจีโอ เรื่องคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 9/2559 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า คำสั่งดังกล่าว ไม่ได้ออกมาเพื่อละเลยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือนำเรื่องสุขภาพอนามัยประชาชนไปเป็นตัวประกันในการดำเนินโครงการใด ๆ ของภาครัฐ แต่คสช.และรัฐบาลมีเจตนาที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ผ่านโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็ค) ด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ระบบชลประทาน ที่อยู่อาศัย โรงพยาบาล หรือการป้องกันสาธารณภัย ที่ต้องทำให้กระบวนการขั้นตอนการดำเนินงานมีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็วควบคู่กันไป จากเดิมที่โครงการขนาดใหญ่ภาครัฐ จะต้องเริ่มต้นที่ขั้นตอนการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก่อน จะเห็นได้ว่ามีหลายโครงการที่มีปัญหาเรื่องความสมบูรณ์ของรายงานจึงใช้เวลานาน ทำให้ไม่สามารถเริ่มดำเนินการในขั้นตอนอื่นต่อไปได้ ทั้งการหาผู้ร่วมลงทุน หรือลงนามในสัญญา ดังนั้น คำสั่งนี้จึงมีขึ้นเพื่อให้ขั้นตอนต่อ ๆ ไปสามารถทำควบคู่กันไปได้
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ปัญหาเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อประเทศไทย รัฐบาลจึงต้องการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน โดยในช่วงต้นปีนี้จะมุ่งผลสำเร็จของมาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาล ส่วนกลางปีถึงปลายปี จะเน้นการลงทุนเมกะโปรเจ็คด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างการลงทุน และเกิดการจ้างงาน ฯลฯ โดยหากโครงการต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างทันที ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
พล.ต.สรรเสริญ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลยินดีรับฟังข้อห่วงใยของกลุ่มองค์กรทั้งหลาย แต่ทั้งสองฝ่ายก็ต้องรับฟังซึ่งกันและกัน โดยยืนยันว่าจะไม่ให้การทำ EIA หรือ EHIA เป็นเพียงแค่พิธีกรรม หรือการกระทำให้ครบตามขั้นตอนเท่านั้น เพราะเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตของประชาชน หากในที่สุดผลการประเมินไม่ผ่าน ก็จะไม่ดำเนินการต่ออย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน กลุ่มองค์กรต่าง ๆ ก็ต้องเข้าใจภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่จำเป็นต้องเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม จึงจำเป็นต้องบริหารโครงการโดยใช้เวลาอย่างคุ้มค่า ยอมรับว่าในอนาคตอาจเกิดผลกระทบต่อผู้ร่วมลงทุนบ้าง หากผลการประเมินไม่ผ่าน แต่ยืนยันว่าจะไม่เกิดความเสียหาย เพราะยังไม่มีการผูกพันสัญญาใด ๆ ทั้งนี้ รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) กำลังเดินหน้าปฏิรูปกระบวนการ EIA และ EHIA ให้มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย วางรากฐานดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืน
ผู้สื่อข่าว: วิรวินท์ ศรีโหมด
CR:แฟ้มภาพ