การใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน นายสมเกียรติ เมสันธสุวรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อธิบายว่า ปัจจุบันภาพรวมการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย มีถึงวันละ 4,764ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าร้อยละ 60 ใช้ในภาคโรงแยกก๊าซร้อยละ 20 ในภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 14 และใช้ภาคขนส่ง(เอ็นจีวี) ร้อยละ 6 ปัจจุบันการจัดหาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศ นำมาจาก 5 แหล่ง คือ อ่าวไทยร้อยละ 50 นำเข้าก๊าซจากพม่าร้อยละ 18 ก๊าซบนบก ร้อยละ 13 ก๊าซจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) ร้อยละ12 และก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี)ร้อยละ 7 แต่ในเรื่องของคุณภาพก๊าซธรรมชาติที่นำมาใช้ คุณภาพก๊าซในอ่าวไทยจะมีคุณภาพดีกว่าที่นำมาจากพม่า ซึ่งจะนำไปใช้ประโยขน์ได้หลากหลายมากกว่า ส่วนเรื่องยอดขายของพลังงานก๊าซธรรมชาติ ในประเทศยอดรวมปี2558 ลดลงจากปี2557 อยู่ที่ร้อยละ 3-4 มองว่า เป็นการลดลงเช่นเดียวกับทุกเชื้อเพลิงทั้งหมด
ขณะที่เรื่องสถานะความแตกต่างของเชื้อเพลิงที่มาใช้ในภาคอุตสาหกรรม หลักๆจะมี ดีเซล แอลพีจี เอ็นจีวี และแอลเอ็นจี ซึ่งดีเซล จะมีสถานะอุณหภูมิติดไฟ ได้รวดเร็วกว่าก๊าซ คือ ดีเซลติดไฟได้ที่ระดับอุณหภูมิที่ 250 องศาเซลเซียส ขณะที่ แอลพีจี อยู่ที่ 482องศาเซลเซียส เอ็นจีวี 650 องศาเซลเซียส และแอลเอ็นจี อยู่ที่ 650องศาเซลเซียสเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นายสมเกียรติ อธิบายว่า การดูแลบำรุงรักษาการใช้รถที่ใช้ก๊าซ ผู้ใช้ควรหมั่นตรวจเช็คตัวถังว่า มีรอยขีดข่วน สายรัดถังหลุดหรือไม่ รวมถึงอุปกรณ์มีรอยแตก ชำรุดอยู่เป็นประจำ ทุกวันก่อนใช้รถก็จะดีมาก และควรนำรถไปตรวจสภาพอุปกรณ์ และตัวรถที่กรมการขนส่งทางบก ปีละ 1ครั้งตามมาตรฐานสากล ส่วนข้อปฏิบัติขณะเติมก๊าซ ควรดับเครื่องยนต์ทุกครั้ง ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือ หรือทำให้เกิดประกายไฟ และควรออกจากตัวรถทุกครั้งขณะเติมก๊าซ
ส่วนคุณสมบัติของก๊าซเอ็นจีวี นายสมเกียรติ เปิดเผยว่า เป็นก๊าซธรรมชาติเหลว ไม่มีสี กลิ่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเมื่อเกิดการรั่วไหลจะระเหยไปในอากาศได้เร็วไม่เหลือสารตกค้าง และเป็นที่นิยมใช้ในระบบขนส่งทั่วโลก ทั้ง ยานยนต์ เรือเดินสมุทร และใช้ในภาคอุตสาหกรรม
ผู้สื่อข่าว: วิรวินท์ ศรีโหมด